ผู้ชมทั้งหมด 727
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในสัปดาห์นี้ (27 – 31 มี.ค. 66) โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันนั้นฝ่ายวิเคราะห์ไทยออยล์มองว่าราคาน้ำมันดิบจะได้รับแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงจนถึงสิ้นปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐฯ เพิ่มเติม
ทั้งนี้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในวันที่ 21 – 22 มี.ค. 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25 % สู่ระดับ 4.75 – 5.00 % แม้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 66 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 6.0 % Y-o-Y ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed ’Dot Plot) คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะยืนที่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2566 และปรับลดลงสู่ระดับ 4.3 % ในสิ้นปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่แสดงความเห็นว่า จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระดับในระดับสูงต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบมากขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และกดดันความต้องการใช้น้ำมันของโลก
ขณะที่ความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในยุโรปผ่อนคลายลง หลังธนาคาร Union Bank of Switzerland (UBS) บรรลุข้อตกลงซื้อธนาคาร Credit Suisse (CS) ที่มูลค่า 3 พันล้านฟรังก์สวิส ผ่านการสนับสนุนจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และมีการอนุมัติสินเชื่อเบื้องต้นเพื่อเสริมสภาพคล่องราว 1 แสนล้านฟรังก์สวิส
นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ประกาศขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อตอบโต้มาตรกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบ (Price cap) จากเดือน มี.ค. เป็นเดือน มิ.ย. ขณะที่กลุ่ม OPEC+ เปิดเผยว่าทางกลุ่มผู้ผลิตยังคงแผนเดิมในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดน้ำมันจะได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป
Wood Mackenzie คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2566 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน หลังตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดียในเดือน ก.พ. 66 ปรับเพิ่มสูงขึ้น 8 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับ 22.57 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ทางภูมิภาคตอนใต้ของเอกวาดอร์ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบของประเทศได้รับผลกระทบราว 24,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้บริษัท Petroecuador ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของเอกวาดอร์ได้ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมัน Eden Yuturi ซึ่งมีกำลังผลิต 90,000 บาร์เรลต่อวัน จากเหตุการณ์ประท้วงของชาวพื้นเมือง
ด้านเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน เดือน มี.ค. 66 ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.5 และตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงาน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.6 % และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค. 66 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.2 %