“ไทยออยล์” ฉายภาพทิศทางธุรกิจปี 2568 ลุยขับเคลื่อนการเติบโตตามกลยุทธ์หลัก 3Vs

ผู้ชมทั้งหมด 729 

หากพูดถึง โรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ของไทย คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะนึกถึง บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือTOP บริษัทพลังงานชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและปิโตรเคมีแบบครบวงจร ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย   

“ไทยออยล์” ถือเป็นหนึ่งในโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน มีกำลังการกลั่นน้ำมันมากกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และในอนาคตหากการลงทุนก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) เสร็จสิ้นจะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันมากถึง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับภูมิภาคให้กับไทยออยล์

ขณะที่การขับเคลื่อนธุรกิจในระยะสั้น ปี2568 “ไทยออยล์” ได้คาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันดิบ จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 2567 เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบนอกประเทศกลุ่มโอเปกมีเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอยู่ ในขณะที่น้ำมันดิบพรีเมียมมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของรัฐเซีย ส่งผลให้มีความต้องการน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น

ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน จากความต้องการน้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน(Jet)ที่ปรับตัวขึ้นมาจากในไตรมาส4ปี 2567 จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐฯ, ยุโรป และเอเชียเหนือ ทำให้ความต้องการดีเซลเพื่อทำความร้อนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้น้ำมันอากาศยาน (Jet) ก็เพิ่มขึ้นจากการเดินทางทางเครื่องบินที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี ส่งผลให้ค่าการกลั่น(GRM) ไตรมาส4 ปี2567 เพิ่มขึ้นราว 1.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปี2568 คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อนจากแรงกดดันอุปสงค์ ท่ามกลางความไม่แน่นนอนของเศรษฐกิจโลก

นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน ไทยออยล์ ระบุว่า ในปี 2568 มีปัจจัยที่ต้องจับตา 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.นโยบายต่างๆของ “ทรัมป์” ที่เข้มข้นขึ้นจากสมัยแรก ทั้งการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีน,แคนาดา และเม็กซิโก ที่อาจจะเริ่มต้นในเร็วๆนี้ ขณะที่จีน ก็ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ เช่น การเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในหลายๆประเภท ก็อาจส่งผลให้เกิดสงครามการค้าขึ้น และน่าจะส่งผลกดดันต่อการขยายตัวทางตัวทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงกดดันการใช้น้ำมันด้วย

2.การคว่ำบาตรทำให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น หลังสหรัฐฯออกมาคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซีย ก็จะส่งผลให้จีนและอินเดียที่นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียหันไปนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นๆชั่วคราร ซึ่งก็ต้องจับตาดูท่าทีของ “ทรัมป์” ต่อไป รวมถึง มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่านด้วย

3.อุปทานน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปก ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยหลักจะมาจากการผลิตในสหรัฐฯ รวมถึงโครงการใหม่ในบราซิล กายอานา แคนาดา จะส่งผลกดดันให้โอเปกพลัสที่มีการประกาศจะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตจะมีมาตรการใดออกมาก เพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมันดิบในปีนี้

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจในปี2568 “ไทยออยล์” ยังยึดตามแนวทางกลยุทธ์หลัก 3Vs ได้แก่

1. Value Maximization ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจหลักของ TOP โดยล่าสุด ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่มาประชุม อนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) เป็นจำนวนเงินประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์ฯ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ บริษัท ได้บังคับหลักประกันภายใต้โครงการ CFP อีก 12,339 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะบันทึกหลักประกันดังกล่าวโดยหักต้นทุนออกจากงานระหว่างก่อสร้างของโครงการ CFP จำนวน 12,241 ล้านบาท และบันทึกรายได้อื่นๆประมาณ 98 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองรายการนี้จะถูกบันทึกเข้าในงบการเงินของ TOP ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้

ขณะที่ โครงการ Petrochemical Complex (CAP) ที่เป็นการขยายการเติบโตในธุรกิจโอเลฟินส์ ทางบริษัท PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีแผนขยายการเติบโตออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น และสอดคล้องกับกลยุทธ์ของไทยออยล์ ที่ต้องการเติบโตในธุรกิจโอเลฟินส์ เพื่อก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย และโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจอื่นๆในตลาดอินโดนีเซียที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง

รวมถึงมีการลงทุน HVPs ที่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มผลกำไรที่ดีและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

2. Value Enhancement ที่มุ่งเน้นการเติบโต ด้วยการขยายตลาด และกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะใน 3 ประเทศเป้าหมาย คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูง ซึ่งยังคงมุ่งเน้นขยายธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty chemicals) ที่จะทำให้บริษัทมีตลาดกว้างขึ้น และครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น

3. Value Diversification การพอร์ตโฟลิโอของไทยออยล์ ไปยังธุรกิจใหม่ ซึ่งในความสำคัญอยู่ 2 กลุ่ม คือธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants) เป็นต้น ซึ่งในส่วนของธุรกิจใหม่ กำลังศึกษาเรื่องของไบโอชีวภาพ และที่มีความร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาธุรกิจไฮโดรเจน และธุรกิจกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นต้น โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ ปตท.ศึกษาวิเคราะห์เทคโนโลยี SMR ที่จะนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก

ดังนั้น ภาพรวมทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ด้านตลาดน้ำมันดิบ ประเมินว่า ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานล้นตลาดในปี2568 โดยหลักมาจากประเทศนอกกลุ่มโอเปก(Non OPEC) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลกระทบต่ออุปทานจากนโยบายของ “ทรัมป์”

ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน คาดว่าอัตรากำไรจากการกลั่นจะลดลงเล็กน้อยจากเบี้ยประกันภัยน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่ความต้องการน้ำมันเบนซินอ่อนแอและการเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

ด้านธุรกิจปิโตรเคมี มองว่าตลาดพาราไซลีน (Px)จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการเติบโตแซงหน้าการเพิ่มกำลังการผลิตท่ามกลางอุปทานเบนซีน(Bz) ส่วนเกิน และตลาดโอเลฟินส์ที่ท้าทายจากการเพิ่มกำลังการผลิตที่สูงและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น คาดว่าจะกลับมาเติบโตเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ ได้ประเมินแนวโน้มภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 โดยคาดว่า ตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ

ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน

อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”

ไทยออยล์ ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ เมกะเทรนด์เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน