“ไทยออยล์” คาดราคาน้ำมันเคลื่อนไหวกรอบแคบ ขณะที่ OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตก่อนประชุมโอเปกพลัส

ผู้ชมทั้งหมด 318 

“ไทยออยล์” คาดการราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวกรอบแคบท่ามกลางแรงหนุนจากอุปทานตึงตัว ขณะที่สมาชิก OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตก่อนการประชุม OPEC+ ในวันที่ 3 นี้

ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (3 เม.ย.-7 เม.ย. 66) ว่า ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 เม.ย. 66)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบแต่ยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังสมาชิก OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตลงอย่างไม่คาดคิด ก่อนการประชุมย่อยของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ หรือ โอเปกพลัส (OPEC+) ในวันที่ 3 เม.ย. นี้ ขณะที่ตลาดยังคงจับตาการขนส่งน้ำมันดิบผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งน้ำมันดิบในเขตปกครองตัวเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาใช้งานได้ในสัปดาห์นี้หลังถูกระงับการขนส่งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดย Goldman Sachs คาดว่าความต้องใช้น้ำมันโลกจะเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากเสถียรภาพในภาคการเงิน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

  • ตลาดจับตาการประชุมย่อยของกลุ่ม OPEC+ ที่จัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 65 ว่าจะมีรายละเอียดหรือแผนกำลังผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ หลังเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สมาชิกโอเปกประกาศลดกำลังการผลิตอย่างไม่คาดคิดลง 1.1 ล้านบาณืเรลต่อวัน สำหรับเดือน พ.ค. เป็นต้นไปถึงสิ้นปี สมทบกับที่ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มมีมติคงการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ทั้งนี้หลังมีการประกาศทำให้ตลาดมีความกังวลกับภาวะอุปทานในตลาดน้ำมันมากขึ้น
  • การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan มีแนวโน้มจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหลังการเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์คืบหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดยังจับตาว่าการกลับมาขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งน้ำมัน Kirkuk ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานมายังท่าเรือ Ceyhan จะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ หลังการใช้ท่อถูกระงับไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งปริมาณน้ำมันดิบที่หายไป คิดเป็นราว 10 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของอิรัก ทั้งนี้ FGE คาดการเจรจาน่าจะยังไม่สามารถสรุปได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าและคาดว่าการผลิตน้ำมันดิบของอิรักน่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย.
  • Goldman Sachs คาดเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% จากการคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 และมากกว่าที่ทางการจีนคาดไว้ที่ 5 % เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งคาดจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงจากความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
  • ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจโลก หลังล่าสุด นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในการประชุม China Development Forum ว่าเสถียรภาพในระบบการเงินยังคงมีความไม่แน่นอน ในปี 2023 แม้ว่าปัญหาในภาคธนาคารที่เกิดขึ้นจะได้รับการช่วยเหลือโดยภาครัฐบ้างแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ผลกระทบจากความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดรัสเซียอนุมัติการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (Tactical nuclear) เพื่อตอบโต้การส่งมอบอาวุธยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้กับยูเครน
  • รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ กล่าวว่าการซื้อน้ำมันดิบกลับคืนสำหรับเติมคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (SPR) จะเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2566 แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ จะเคยวางแผนการซื้อน้ำมันดิบคืนเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ช่วงราคาระหว่าง 67 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจุบันสต๊อกน้ำมันดิบ SPR ของสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1983  หลังการระบายน้ำมันจากคลังสำรองที่ระดับ 180 ล้านบาร์เรล ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังคงมีแผนการระบายเพิ่มเติมอีก 26 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน เม.ย-มิ.ย. 66
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 66 และอัตราการว่างงาน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.6 % และตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 66 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.3