ผู้ชมทั้งหมด 1,125
โออาร์ จัดงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” หรือ “Empowering All toward Inclusive Growth” อีเวนต์สำคัญที่จะฉายภาพทิศทางใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Inclusive Growth) ในทุกมิติ ตามแบบฉบับของ โออาร์ เผยอินไซต์และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยหัวข้อการบรรยาย และเวทีเสวนาจากกว่า 50 ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักธุรกิจชั้นนำ
การจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการจาก โออาร์ สินค้าไทยเด็ด พันธมิตร สตาร์ตอัป และอื่น ๆ รวมกว่า 100 บูธ พร้อมพื้นที่ Ownership Center และ Relationship Station เพื่อสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด ทุกรูปแบบ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัป ให้เติบโตไปด้วยกันผ่านโมเดลธุรกิจแห่งอนาคต พร้อมความบันเทิงจากศิลปินและดาราชั้นนำมากมาย ระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2565 ที่ ชั้น 22 บางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “Inclusive Growth ทิศทางธุรกิจแห่งอนาคต” ด้วยประเด็นสำคัญว่า “ที่ผ่านมา เราเห็นได้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม สู่ยุคข่าวสารข้อมูล ยุคดิจิทัล จนถึงการปฏิวัติทางสังคม ต่างส่งผลต่อคุณค่าทางสังคมที่ผู้คนให้ความสำคัญ ตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี ความเสมอภาค เมื่อคุณค่าทางสังคมเปลี่ยนไปภายใต้ความท้าทายและปัญหาต่างๆ ที่โลกปัจจุบันเผชิญอยู่ คุณค่าที่ธุรกิจให้ความสำคัญจำเป็นต้อง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การมุ่งสร้างการจากการมุ่งสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียวเพื่อการเติบโตเพียงลำพัง ไม่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในระยะยาว แต่ต้องมุ่งสู่การยกระดับระบบนิเวศเพื่อให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปพร้อมกัน
พร้อมสร้างผลเชิงบวกโดยมีสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมาย ถึงเวลาที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านจากการเติบโตแบบ Exclusive หรือต่างคนต่างเติบโต กลายเป็น Inclusive หรือการเติบโตร่วมกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การจัดงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ในครั้งนี้จึงเกิดจากความมุ่งมั่นของ โออาร์ ที่จะเป็นองค์กรต้นแบบที่พลิกโฉมจากธุรกิจที่ทุกคนคุ้นเคยสู่การเป็น Inclusive Growth Platform เพื่อรองรับการเติบโตร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจทุกขนาด ทุกรูปแบบ เราพร้อมที่จะหยิบยื่นโอกาสโดยอาศัย Asset ทางธุรกิจที่สั่งสมมากว่า 40 ปี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ PTT Station ที่พลิกโฉมเป็นCommunity Space เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน”
นายดนุชา พิชยนันน์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Inclusive Economy ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจที่เติบโตร่วมกับสังคม” สรุปความได้ว่า “Inclusive Economy คือการที่เราจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ประโยชน์จากการพัฒนานั้นกระจายไปถึงกลุ่มคนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เราเติบโตได้มากขึ้น สร้างคุณค่ามากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายประโยชน์ได้มากขึ้น เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้วาง 13 หมุดหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่จุดนั้นในอนาคต อนาคตผู้บริโภคจะดูทิศทางของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่จะไปสู่สังคม Decarbonization
ขณะเดียวกัน โลกก็จะมีการแบ่งกันหลายขั้วมากขึ้น และจะกระทบต่อจุดยืนของประเทศไทย ดังนั้นไทยจึงต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งในแง่ของการผลิต การบริการ และเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องสร้างเครือข่ายนำเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)เพื่อสร้างการเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งสำคัญในการการมุ่งสู่ Inclusive Economy คือทุกภาค ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ประชาชนต้องเดินไปด้วยกัน”
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Inclusive Business Model โมเดลธุรกิจแห่งอนาคต โมเดลธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นางสาวชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด และนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์
โดย ดร. ภากร เปิดประเด็นว่า “การเติบโตไปด้วยกันต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญมากคือความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ ต้องคุยกันด้วยหลักการและเหตุผล ถ้าเราโตคนเดียว เราไปได้ไม่ไกล ในโลกของการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจต้องมีทั้งการ Give และTake ถึงจะไปได้ไกลและไปได้เร็ว สิ่งสำคัญคือ การมี Mindset ที่เดินไปข้างหน้า เมื่อคนเก่งด้านต่าง ๆ ร่วมกันทำงาน จะยิ่งทำให้เราต่อยอดต่อไปได้ ของเก่าจะปรับประสิทธิภาพให้ดีได้อย่างไร ของใหม่จะเข้ามาช่วยเสริมในระยะสั้นหรือเกิดประโยชน์ในระยะยาวได้อย่างไร ถ้าเราบาลานซ์สามอย่างนี้ได้บริษัทจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ขณะที่ นางสาวชนิกานต์ เสริมว่า “ไมโครซอฟต์ต้องการมีส่วนในการนำเทคโนโลยีเข้าถึงสำหรับทุกคน ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ มีส่วนในการสร้างสังคม การศึกษา และสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ดังนั้น พันธกิจของเราคือ การสร้างความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับทุกคน การสร้างทักษะดิจิทัลให้ผู้คนเปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม สนับสนุนให้คู่ค้าสร้างมูลค่าเพิ่มทางนวัตกรรมเทคโนโลยี และเพิ่มการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ”
และ นางสาวจิราพร ให้ความเห็นว่า “สำหรับ OR การเติบโตคือการไม่ได้โตไปคนเดียว แต่เติบโตไปพร้อมกับกันสังคม ชุมชน คู่ค้าและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยโมเดล 4E นั่นคือ Engage เปิดรับธุรกิจทุกรูปแบบ ทุกขนาด Enable เปิดให้ใช้ Asset ร่วมกัน โดยที่ OR มีสินทรัพย์ทั้งด้าน Physical และ Digital ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มี Infrastructure ทางธุรกิจที่พร้อมช่วยส่งเสริมยกระดับศักยภาพของธุรกิจขนาดเล็ก Empower ไม่ปิดกั้นโอกาสพันธมิตรทุกรายมีอิสระในการสานต่อความร่วมมือและเติบโตกับธุรกิจอื่น ๆ ได้ และ Empowering all toward Inclusive Growth เติมเต็มทุกโอกาสในการเติบโตร่วมกัน”
ปิดท้ายที่เวทีเสวนาในหัวข้อ “Inclusive Finance โมเดลการเงินแห่งอนาคต เพื่อการเติบโตร่วมกัน” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายธนา โพธิกําจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ ซีกรุ๊ป
โดยนายวิทัย เกริ่นนำว่า “นิยามของ Inclusive Finance คือการดึงคนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินมาสู่ระบบมากขึ้น ด้วยพื้นฐานของความเป็นธรรมในด้านอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ธนาคารออมสินคือเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งให้สินเชื่อกับคนที่ไม่เคยมีประวัติสินเชื่อรวม 2.7 ล้านคน และให้โอกาสสร้างเครดิตทางการเงินใหม่กับผู้ที่เคยมีประวัติที่ไม่ดีกว่า 1 ล้านคน ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการเงิน ธนาคารต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงจากลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีและคนฐานราก และหาวิธีในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น อย่างธนาคารออมสินเองใช้วิธีปล่อยสินเชื่อแบบใช้หลักประกัน (Collateral based) แทนการพิจารณาความสามารถในการชำระคืน (Risk based) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น”
นายธนา เสริมมุมมอง Inclusive Finance ว่า “ในฐานะของ “Social Media Bank” เราเป็นบริการการเงินที่ไม่เพียงแค่เข้าถึงทุกคน แต่ยังต้องเป็นสิ่งทั้งผู้ให้และผู้รับบริการต่างเข้าใจซึ่งกันและกันการใช้ดิจิทัลแพล็ตฟอร์มทำให้ต้นทุนทางธุรกิจไม่สูง จึงให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ ปัจจุบัน ระบบนิเวศทางการเงินไม่จำกัดเพียงแค่สถาบันทางการเงินอีกต่อไปแล้ว โซเชียลมีเดียก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการการเงินที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมหาศาล มีฐานข้อมูล มีความเข้าใจพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน รู้เท่าทันถึงความต้องการที่ช่วยให้วิเคราะห์ความต้องการและนำเสนอบริการเงินที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภคในแต่ละช่วงจังหวะชีวิต”
ดร. สันติธาร กล่าวว่า “ปัจจุบัน บริการทางการเงินต้องพาตัวเองเข้าไปหาลูกค้า จับความต้องการลูกค้าในทุกมิติของชีวิต เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ดาต้าช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือความหลากหลาย (Diversity)ของผู้ให้บริการการเงินที่ตอบโจทย์ที่แตกต่างของกลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งธนาคาร หรือ Non-Bank ต่าง ๆ เช่น Social Media หรือ Virtual Banking ที่กำลังเติบโตทั่วเอเชีย และ Inclusive Finance จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อ ผู้บริโภคเองต้องมีความเข้าใจทางการเงิน ผู้ประกอบการต้องเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ และผู้วางนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี”