ผู้ชมทั้งหมด 1,109
โออาร์ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจต่างประเทศ มุ่งหา “พันธมิตรร่วมลงทุน” ลุยขยายตลาดกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย หวังโตล้อจีพีดีในประเทศเป้าหมาย ลั่นเดินหน้าติดตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้าครบ 300 แห่งในปี65 รองรับรถอีวี
น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เปิดเผยว่า แผนธุรกิจต่างประเทศของ โออาร์ ในปี 2565 จะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง หลังจากบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ จากอดีตการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะเป็นลักษณะการจัดตั้งบริษัทย่อยที่ โออาร์ ถือหุ้น 100% เพื่อเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้ว โออาร์ ได้ปรับแผนหันมาหาพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งเป็นพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ เช่น ในเมียนมา และกัมพูชา ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรแล้วทำให้การขยายธุรกิจเป็นอย่างคล่องตัวและประสบความสำเร็จมากขึ้น
ดังนั้น การขยายธุรกิจต่างประเทศในอนาคต จึงจะเป็นลักษณะเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นและจะเป็นไปตามกลยุทธ์ของโออาร์ที่จะเติบโตไปพร้อมกับSME ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเห็นการขยายธุรกิจของโออาร์ใน 2 ลักษณะ คือ การขยายฐานธุรกิจที่มีการลงทุนอยู่แล้วใน 10 ประเทศ และการเข้าไปลงทุนในประเทศใหม่ๆเพิ่มเติม
“ในปี 2565 โออาร์ เล็งเป้าหมายขยายการลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอัตราจีดีพี เติบโตสูง จำนวนประชากรมาก และมีไลฟ์สไตล์คล้ายกับคนไทย เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีซีย ซึ่งหากไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เห็นความคืบหน้าไปมากแล้ว”
นอกจากนี้ ในส่วนของร้านคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ในต่างประเทศ มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้า ภายในปี 2568 จะมีสาขา ในต่างประเทศที่ 1,000 สาขา มีรายได้ 34,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด 298 สาขา ใน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์, เมียนมาร์, โอมาน, สิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับความคืบหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) โออาร์ ยังคงเป้าหมายที่จะขยายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ให้ครบ 300 แห่ง ภายในสิ้นปี 2565 จากปี 2564 จะติดตั้ง 100 สาขา โดยปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 75 สาขา ซึ่งจะเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลาง
ทั้งนี้ การลงทุนติดตั้งต่อ 1 สาขา จะใช้งบลงทุนอยู่ 1.5-2 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการสถานีชาร์จอีวีที่ปั๊มน้ำมันพีทีทีอยู่ที่ 15-20 คันต่อวันต่อสาขา ใช้เวลาชาร์จไฟ 20-25 นาที ซึ่งแผนต่อจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรขยายการติดตั้งในครอบคลุมพื้นที่การใช้งานรถอีวีให้มากขึ้นทั้งในปั๊มและนอกปั๊ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บรอโภคยุคใหม่
“เรามองว่า รถอีวี ในอนาคตราคาอยู่ที่ประมาณ คันละประมาณ 1 ล้านบาท จะเป็นระดับที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการซื้อ หรือเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยได้ใช้รถอีวี ทำให้ตลาดของรถอีวี มีโอกาสขยายตัวอีกมาก”