“โออาร์” ชวนผู้บริหารองค์กรชั้นนำโชว์กึ๋น! มองอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด การเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ

ผู้ชมทั้งหมด 1,378 

โออาร์ จัดงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” หรือ “Empowering All toward Inclusive Growthอีเวนต์สำคัญที่จะฉายภาพทิศทางใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Inclusive Growth) ในทุกมิติ ซึ่งนอกจากจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการจาก โออาร์ สินค้าไทยเด็ด พันธมิตร สตาร์ตอัป และอื่น ๆ รวมกว่า 100 บูธ แล้วงานนี้ยังจัดเวทีเสวนาจากกว่า 50 ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักธุรกิจชั้นนำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีเสวนาต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2565

อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกวันที่น่าสนใจเพราะเป็นการเสวนาถึงประเด็น“Seamless Mobility” การเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ แลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของทิศทางพลังงานในอนาคตและยานยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด        

สำหรับงานนี้ยังคงเป็น นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า การเสวนาในประเด็น “Seamless Mobility” การเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ตลอดจนองค์กรเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรมมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของทิศทางพลังงานในอนาคตและยานยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และในประเทศไทย เนื่องจากการใช้พลังงานในปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้เชื้อเชื้อเพลิงฟอสซิลค่อนข้างสูงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายวงกว้างไปจนถึงเรื่องอุบัติภัยต่างๆ ที่ไม่มีใครคาดคิด รวมทั้งมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงคนรุ่นหลัง การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานที่สะอาดขึ้นอย่างไร้รอยต่อนั้นย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำพาความเปลี่ยนแปลงแบบ Inclusive มาช่วยสร้างการเติบโตร่วมกันกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมั่นคง”

เริ่มจากการเสวนาภายใต้หัวข้อ “From Gas to Green พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)และนายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โออาร์

โดย นายศุภชัย ได้เปิดประเด็นว่า “ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรามีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้ทุกคนและเป็นต้นแบบในการริเริ่มนำพลังงานสะอาดมาใช้ โดยนำร่องจากโครงการ Micro-grid ในต่างจังหวัด เพื่อสร้างพลังงานสะอาดที่ทุกคนในทุกชุมชนสามารถเข้าถึงได้”

ด้าน นางสมฤดี จากบ้านปูให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “มนุษย์ไม่ได้เลิกใช้ฟืนเพราะฟืนหมดโลก แต่มนุษย์เลิกใช้ฟืนเพราะเราพบพลังงานที่ดีกว่า แต่ในทุกการเปลี่ยนผ่านย่อมต้องใช้เวลา จากที่เราใช้พลังงานฟอสซิลกันมายาวนาน วันนี้เราพบพลังงานที่ “สะอาดขึ้น” เราจึงเลือกที่จะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน นั่นคือสิ่งที่บ้านปูกำลังทำอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้เราได้มีพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน เพื่อให้โลกของเราสะอาดขึ้นด้วยมือของเราทุกคน”

ส่วน นายวรวัฒน์ ผู้บริหารจาก GPSC ได้ให้มุมมองว่า “ในตอนนี้ถือว่าเรากำลังอยู่ในปฐมบทของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในการร่วมกันเปลี่ยน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน สิ่งที่ผมอยากจะฝากคือ เรื่องของภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากภาวะโลกร้อนเกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้นมาวันหนึ่ง ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 9 ของโลกและจะมี GDP ติดลบ 40% ซึ่งเทียบได้กับการเกิดสถานการณ์โควิดเป็นเวลา 4-5 ปีติดต่อกัน การให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบภาวะโลกร้อนจึงเป็นเรื่องจำเป็น”

ปิดท้ายที่ นายบุญมา ที่กล่าวถึงอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ว่า “หนึ่งในพลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เลยในตอนนี้ก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ การเปลี่ยนผ่านมาใช้ Solar Rooftop จะมีส่วนช่วยทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกลง ซึ่งเราประเมินว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 15-20% นั่นหมายความว่า ผู้ใช้จะสามารถคืนทุนค่าติดตั้งได้ภายในระยะเวลา 5-6 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ไม่ยากในบ้านของตัวเอง”

ขณะที่การบรรยายบนเวทีในหัวข้อ The World of EV ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อโลกเพื่อเรา” โดย นายยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งได้บอกเล่าข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อโลกไว้ว่า “การมาถึงของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในวันนี้ จริง ๆ แล้วเริ่มต้นอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะในอดีต มีการพูดคุยกันว่า หากเรามีการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในก็น่าจะก้าวไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเลย จุดตัดที่สำคัญที่นำไปสู่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าก็คือ พัฒนาการของแบตเตอรี่ที่สามารถนำมาใส่ไว้ในรถยนต์เพื่อให้พลังงานในการเคลื่อนที่ได้ไกลพอ และเมื่อหมดก็สามารถชาร์จพลังงานเข้าไปใหม่ในเรื่องของเทรนด์

โดยเราเห็นได้ชัดว่า ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังอยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ยอดขายรถยนต์โดยรวมทั่วโลกที่ลดลงในปี 2021 ที่เรายังเผชิญหน้ากับโควิด แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกลับเติบโตอีกเท่าตัว จากราว ๆ 3 ล้านคันสู่ตัวเลขราว 6.5 ล้านคัน ซึ่งสะท้อนว่า นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการ และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์จำนวนไม่น้อย อาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ประกาศการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวแล้ว ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือ ในประเทศไทยมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายรายที่กล้าพอที่จะลงทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถบัสขนาดใหญ่ ไปจนถึงรถตุ๊กตุ๊ก และรถจักรยานยนต์ ซึ่งแต่ละรายก็ทำได้ดีด้วย และผมคิดว่า คนไทยควรให้การสนับสนุน”

ต่อกันที่การเสวนาในประเด็น “EV Moments ช่วงเวลาที่ดีต่อใจ ดีต่อโลก” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์ซัม (ประเทศไทย) จำกัด นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัดและนายวริศ เรียงประยูร กรรมการผู้จัดการ เอ มอเตอร์ส กรุ๊ป โดย นายศิวภูมิ ผู้บริหารแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับรถยนต์มือสองครบวงจร เปิดประเด็นว่า “ในประเด็น EV ผมคิดว่าทางฝั่งผู้บริโภคนั้นตื่นตัวและรู้ข้อมูลพร้อมแล้ว หากมีตัวเลือกที่น่าสนใจผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยก็พร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นงานของภาคธุรกิจที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ซึ่งหากต้องการให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้าง มี 3 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา นั่นก็คือเรื่องของการใช้งาน (functionality) ความสะดวกในการใช้งานและการชาร์จ (convenience) และเรื่องราคาและความสามารถในการซื้อ (affordability) ซึ่งปัจจัยที่ 3 คือปัจจัยที่ท้าทายที่สุด หากราคายังสูง ก็จะมีแต่ผู้ที่มีกำลังซื้อเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งทางแก้ก็ต้องแก้กันที่การแชร์ข้อมูล ตอนนี้ผู้ประกอบการแต่ละฝ่ายกำลังถือจิกซอว์คนละตัว หากสามารถเอาข้อมูลมารวมกัน เราน่าจะแก้ปัญหานี้ได้ดียิ่งขึ้น”

ทางด้าน นายวริศ เสริมว่า “ในวันนี้ถ้าดูกันที่วงจรชีวิตของรถยนต์ สำหรับรถ EV ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และราคารถ EV ก็ยังอยู่ในระดับสูงและมีสินค้าให้เลือกไม่ได้หลากหลายมากนัก ในขณะเดียวกัน จุดชาร์จรถ EV โดยเฉพาะจุดชาร์จแบบ DC ที่ชาร์จได้เร็วยังมีไม่มากนักในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้ ภาครัฐก็มีแผนการส่งเสริมที่ชัดเจนและน่าจะมีมากขึ้นในอนาคต ส่วนความหลากหลายของรถยนต์ EV ก็อยู่ที่ผู้ประกอบการที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดให้มากขึ้น เพื่อเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค เมื่อมีตัวเลือกที่มากขึ้น ราคาถูกลง ตลาดรถ EV ก็สามารถเติบโตได้ และผมเชื่อว่าจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย”

สำหรับ นายเอกชัย จากอรุณ พลัส ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แม้ในตอนนี้ จากรถยนต์ที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนน 1,200-1,300 ล้านคันทั่วโลกจะมีสัดส่วนที่เป็นรถ EV ไม่ถึง 1% แต่จากการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทำให้เราเห็นว่ายังเหลือพื้นที่ให้รถ EV สามารถเติบโตได้อีกมาก จึงพูดได้ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จะเกิดการใช้อย่างแพร่หลายแน่นอน แต่เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้น  ทุกภาคส่วนยังมีเวลาในการเตรียมตัวรองรับการมาถึงอย่างเต็มรูปแบบของรถ EV ซึ่งผมคิดว่า การสนับสนุนของภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องบาลานซ์การสนับสนุนรถ EV โดยคำนึงถึงซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปภายในที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน”

ปิดท้ายที่การเสวนาในหัวข้อ “The World of Seamless Mobility โลกแห่งการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โออาร์ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (เคเคทีที) นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนางธารินี สุทธิปริญญานนท์ นายกสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย

โดย นายบุญมา เปิดประเด็นในเรื่องนี้ก่อนว่า “เรื่อง Seamless Mobility เป็นหนึ่งในพันธกิจของโออาร์ที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุกการเดินทางด้วยความสะดวกแบบไร้รอยต่อ ผ่านการพัฒนาและยกระดับการทำงาน โดยเฉพาะการขยายสถานีชาร์จจนครบ 7,000 จุดชาร์จทั่วประเทศภายในปี 2030 เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถ EV ในอนาคต”

ส่วน นายพชร ให้ความเห็นว่า “สำหรับการเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อต้องมองรอยต่อระหว่างการเชื่อมโยงของการขนส่งแต่ละที่ด้วย เพราะการเชื่อมรอยต่อมิใช่แค่เพียงการมอบความสะดวกที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภค แต่เป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย” สำหรับนางธารินี ในฐานะผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย บอกว่า “ในส่วนของสถานีบริการน้ำมันของเรานั้น ได้มีการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคมาตลอด ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันไม่ได้ให้บริการแค่การเติมน้ำมัน แต่มีครบครันในทุก ๆ ด้าน เราพร้อมที่จะให้บริการคนเดินทาง 24 ชม. ไม่ว่าเค้าจะต้องการสินค้าและบริการใด เพื่อให้ทุกการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและสะดวกสบายที่สุด”

ปิดท้าย นายสุรเดช “ยกตัวอย่างการเดินทางแบบไร้รอยต่อในญี่ปุ่นที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางโดยละเอียดในทุก ๆ ด้านทั้งเวลา ราคา สถานที่ท่องเที่ยว และละเอียดแบบเต็มรูปแบบทั้งในเมืองหลวงและเมืองอื่น ๆ เชื่อมต่อกันว่า “การเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อในลักษณะเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นมีนั้น เมืองไทยก็สามารถทำได้ สิ่งสำคัญคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องสามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกัน และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ผลลัพธ์ที่ดีก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค และเมื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อเกิดขึ้นได้จริง ก็จะนำไปสู่ผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจตามมาด้วย”