โรงไฟฟ้า SMR  ตอบโจทย์ Net Zero กฟผ.มั่นใจความปลอดภัยสูง

ผู้ชมทั้งหมด 456 

หลายประเทศเริ่มศึกษา และลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor) หรือ SMR ซึ่งนอกช่วยเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าแล้ว หลายประเทศยังเชื่อว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อน มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero

โรงไฟฟ้า SMR ใช้ยูเรเนี่ยยมเป็นเชื่อเพลิง ซึ่งตลอดอายุการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SMR นั้นจะใช้เชื้อเพลิงที่น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลหลายเท่า ถือเป็นพลังงานสะอาดที่มีราคาเหมาะสม เรียกได้ว่า SMR นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นพลังงานทางเลือกของพลังงานสะอาด ที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

สำหรับในประเทศไทย กระทรวงพลังงานนั้นอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของไทย (PDP 2024) ฉบับใหม่ เบื้องต้นจะมีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ในช่วงปลายแผน PDP ภายในปี 2580  เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของไทย อย่างไรก็ตามการเริ่มดำเนินการศึกษาโรงไฟฟ้า SMR การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเข้ามาดำเนินการศึกษาพัฒนา และให้ความรู้แก่ประชาชน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด ซึ่งการจะทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะค่อนข้างสูง กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้า SMR เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้

โดยออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน ลดความซับซ้อนของระบบทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า อีกทั้งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น

สำหรับโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR หรือ Linglong One ที่ได้มาศึกษาดูงานในครั้งนี้มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งอยู่ใน เมืองฉางเจียง มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดย China National Nuclear Corporation (CNNC) ซึ่งเริ่มพัฒนาและออกแบบเมื่อปี 2553 และผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ในปี 2559 จากนั้นเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569

ทั้งนี้โรงไฟฟ้า SMR Linglong One ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลกต้องนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งกฟผ. ได้ติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศ อาทิ อเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย

พร้อมกันนี้ยังต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการทำงานและข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR และเกิดการยอมรับ ด้าน กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปีแล้ว

ส่วนการประเมินเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประมาณ 2 – 3 เท่า แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และในอนาคตมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะถูกลงอีก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

“ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ”

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า การติดตั้งโรงไฟฟ้า SMR ใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น ตัวโรงไฟฟ้ามีขนาดเล็ก ลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน

โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจน จากแผน PDP 2024

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.  กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ. ติดตามเทคโนโลยี SMR อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก SMR เป็น​พลังงานทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อม เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับเยาวชนในระดับประถมและมัธยม การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย การกำกับดูแล ขณะที่ กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี SMR อื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดที่เหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและมีความพร้อมในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ

นายหวง เล่ย (Mr. Huang Lei) รองประธานบริษัท Hainan Nuclear Power Company (HNPC) เปิดเผยว่า พลังงานนิวเคลียร์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดของจีนในอนาคต โดยโรงไฟฟ้า SMR เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของจีนให้มีขนาดเล็กลง แต่ยกระดับความปลอดภัยสูงขึ้น โดยออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุผิดปกติโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้นานถึง 72 ชั่วโมง รวมถึงพื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลง โดยมีรัศมีประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569

กระบวนการสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR คือ การสร้างความรู้และการยอมรับของประชาชน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า SMR และสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในมณฑลไห่หนานเริ่มดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรเงินรายได้จากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นทุนการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ก่อนจะนำไปจัดทำรายงานประเมินความมั่นคงของชุมชนท้องถิ่น

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดแรงกดดันจากความจำเป็นที่ต้องลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้ปัจจุบันมณฑลไห่หนานจะมีพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่เราต้องการพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความเสถียรเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า”

การลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ยังถือเป็นช่วงแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่บทเรียนและประสบการณ์จะเป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อยอดเพื่อลดต้นทุนการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR แห่งนี้ขนาด 125 MW ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้าน ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร วิศวกรระดับ 10 กฟผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนพื้นที่ติดตั้งไม่จำเป็นต้องติดทะเล แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ และต้องอยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนยอมรับอันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีพ.ร.บ. ที่จะมีควบคุมการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ส่วนการประเมินด้านความรู้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทยที่ดำเนินการ โดย กฟผ. และกระทรวงพลังงาน โดยใช้เกณฑ์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) สำหรับประเทศที่ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีการประเมิน 19 ข้อด้านโครงสร้างพื้นฐาน ณ ปี 2010 ประเทศไทยถูกประเมินผ่านว่ามีความรู้เพียงพอที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ตลอดจนปัจจุบันก็มีการศึกษาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องจึงแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ทั้งนี้หากเทียบประสิทธิภาพเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าระหว่างถ่ายหิน ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนี่ยมที่เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปริมาณเชื้อเพลิงที่เท่ากันพลังงานที่ผลิตได้จากนิวเคลียร์จะมากกว่าถ่านหิน 1 แสนเเท่า และมากกว่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 50,000 เท่า ในขณะที่การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นยังไม่ตอบโจทย์คุณภาพของไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ดังนั้นเทคโนโลยี SMR จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทั้งในด้านความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า และการไปสู่เป้าหมาย Net Zero

ส่วนความกังวลในเรื่องของการกำจัดกากยูเรเนี่ยมที่เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นดร.นทีกูล ระบุว่า การกำจัดกากยูเรเนี่ยมหรือกากกัมมันตรังสีนั้นโรงไฟฟ้า SMR หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในระยะเวลา 2 ปีจะมีการเปลี่ยนเชื้อเพลิง ซึ่งกากยูเรเนี่ยมที่ผ่านมาใช้งานแล้วจะถูกจัดเก็บในสระน้ำภายในอาคารควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นการจัดเก็บแบบเปืยกใช้ระยะเวลา 5 จากนั้นก็จะนำไปจัดเก็บในถังคอนกรีตหรือเหล็กที่ออกแบบไว้ที่จะจัดเก็บเชื้อเพลิงที่ผ่านการใช้งานแล้วโดยเฉพาะ

ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องขออนุญาตตั้งแต่ พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า การก่อสร้าง การทดสอบเดินเครื่อง การดำเนินการ และเมื่อโรงไฟฟ้าหมดอายุแล้ว ก็ต้องขออนุญาตเลิกดำเนินการอีกด้วย