ผู้ชมทั้งหมด 504
กรมธุรกิจพลังงาน เผย ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังฉุดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือนของปี 2564 (มกราคม – ตุลาคม) ลดลง 5.1% ขณะที่เดือนต.ค. พบว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าหันใช้ดีเซล ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพง
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 10 เดือนของปี 2564 (มกราคม-ตุลาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 42.9 กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 9.3 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 5.9 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 5.7 อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 สำหรับการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 19.6
โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 28.40 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 9.3) เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์พบว่าลดลงมาอยู่ที่ 27.75 ล้านลิตร/วัน (ร้อยละ 9.1) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 6.79 ล้านลิตร/วัน 14.56 ล้านลิตร/วัน 5.65 ล้านลิตร/วัน และ 0.74 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร/วัน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนตุลาคม 2564 พบว่า การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.56 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 27.25 ล้านลิตร/วัน) (เพิ่ม ร้อยละ 4.8) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดน้ำมัน ยกเว้นน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (ลดจาก 29 จังหวัดเป็น23 จังหวัด) โดยบางกิจกรรมสามารถดำเนินการและขยายเวลาการให้บริการได้ (โรงภาพยนตร์ ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า สนามกีฬาร้านอาหาร โรงมหรสพ เปิดได้ถึงเวลา 22.00 น.) การจำกัดการรวมกลุ่มไม่เกิน 50 คน และปรับมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 23.00 – 03.00 น. (มีผลตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2564) เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
ขณะที่ การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.85 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลก ร้อยละ 5.9) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 35.64 ล้านลิตร/วัน (ลด ร้อยละ 19.0) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.60 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 1.05 ล้านลิตร/วัน
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉพาะเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 58.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 (ลด ร้อยละ 3.5) เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณการใช้ดีเซลหมุนเร็ว บี7 เพิ่มขึ้นจาก 37.04 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 39.32 ล้านลิตร/วัน สวนทางกับการใช้ดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่ลดลงจาก 20.52 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 12.46 ล้านลิตร/วัน โดยเป็นผลจากส่วนต่างราคา บี7 – บี10 ซึ่งลดลงจาก 3.00 บาท/ลิตร ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 เป็นไม่มีส่วนต่างราคาระหว่างวันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2564 ตามสัดส่วนผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำร้อยละ 6 ของ บี7และบี10 สำหรับการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยอยู่ที่ 2.10 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากมีการใช้น้ำมันดีเซลทดแทนก๊าซธรรมชาติ
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.36 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 42.9) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ศบค. เห็นชอบการปรับลดวันกักตัวของชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 และต่อมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารได้ตามความจุของเครื่องบิน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 จึงส่งผลให้การใช้น้ำมัน Jet A1 ในเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ 4.04 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 4.73 ล้านลิตร/วัน เพิ่มร้อยละ 16.9)
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.51 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มร้อยละ 8.0) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.39 ล้านกก./วัน (เพิ่ม ร้อยละ 21.3) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.84 ล้านกก./วัน (เพิ่ม ร้อยละ 11.5) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.59 ล้านกก./วัน (เพิ่มร้อยละ 1.6) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.69 ล้านกก./วัน (ลดร้อยละ 17.3)
และการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.09 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 19.6) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
นอกจากนี้ ในส่วนของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 885,018 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 1.0) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 850,968 บาร์เรล/วัน(ร้อยละ 0.1) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57,049 ล้านบาท/เดือน (เพิ่ม ร้อยละ 51.2)
สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 34,049 บาร์เรล/วัน(ลด ร้อยละ 21.5) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,162 ล้านบาท/เดือน (เพิ่ม ร้อยละ 14.7) มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 199,457 บาร์เรล/วัน (ร้อยละ 6.4) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,280 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มร้อยละ 71.9)