ผู้ชมทั้งหมด 301
“แอร์เอเชียเอ็กซ์” ยึดดอนเมืองเป็นฐานการบิน เริ่มกลับมาบิน 1 ต.ค. 67 มอง 5 ปีข้างหน้าสลอตการบินมีศักยภาพเติบโตดีกว่า “สุวรรณภูมิ” ด้าน AOT ชี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT หนุนไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค
นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวภายในงานแถลงข่าว ความร่วมมือ AOT CAAT และ Thai AirAsia X พร้อมพัฒนาศักยภาพด้านการบินสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ว่า การกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ถือเป็นบ้านที่คุ้นเคย ซึ่ง ณ ตอนนี้มีความพร้อมในการย้านฐานการบินกว่า 80% แล้ว โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะเริ่มกลับมาให้บริการได้ทุกเที่ยวบิน ซึ่งปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินแอร์บัส เอ 330 รวม 8 ลำ ทยอยเพิ่มเป็น 11 ลำ ณ สิ้นปี 2567 หลังจากนั้นวางเเผนรับเครื่องบินเพิ่มปีละ 3-5 ลำ เพื่อเพิ่มความถี่เเละเปิดบินเส้นทางใหม่ๆ เติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีฝูงบินเพิ่มเป็น 30 ลำ
อย่างไรก็ตามในการย้ายฐานการบินกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นยังจะไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ส่วนใหญ่มีฝูงบินให้บริการอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองราว 52 ลำ จากทั้งหมด 57 ลำ และมีส่วนเเบ่งการตลาดเส้นทางในประเทศสูงสุดกว่า 40% มีเครือข่ายบิน ต่างประเทศที่หลากหลายครอบคลุมทั้งจีน อินเดีย เอเชียใต้ อาเซียน ญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองไทเป เกาสง รวมกว่า 93 เส้นทาง หรือ 1,250 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อเที่ยวบิน หรือ Fly Thru ที่ส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค (Aviation Hub)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การย้ายฐานการบินของสายการไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาที่สนามบินดอนเมือง นอกจากจะช่วยขยายศักยภาพของสายการบิน ช่วยเพิ่มผู้โดยสาร ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคแล้วยังช่วยให้สายการไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ลดต้นทุนการบินได้ราว 10-12% โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมัน เนื่องจากระยะทางในการแท็กซี่เวย์สั้นลงเมื่อเทียบกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับเส้นทางบินของ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ปัจจุบันทำการบินเข้าออกกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และในช่วงปลายปี 2567 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีแผนที่จะเปิดจุดบินใหม่อีก 2-3 เส้นทาง ได้แก่ นิวเดลี อินเดีย,เซ็นได ญี่ปุ่น รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายเส้นทางบินไปยังซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากทางการซาอุฯ มีการเชิญชวนให้นักลงทุนไทยไปลงทุน ซึ่งหากมีการเข้าไปลงทุนในซาอุฯ ก็จะส่งผลให้เกิดการติดต่อเดินทางกันมากขึ้น
ส่วนโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานดอนเมือง ทางแอร์เอเชียขอมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งแอร์เอเชียเป็นห่วงเรื่องการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting) เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก ระหว่างเที่ยวบินระหว่างประเทศกับในประเทศให้คล่องตัวที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำราคาตั๋วเครื่องบินจูงใจผู้โดยสารได้ จะได้มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า AOT พร้อมส่งเสริมนโยบายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมถึงนโยบาย “คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในทุกมิติ โดยผลักดันให้ ทดม.เป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT ที่สะดวก รวดเร็ว ครบครัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ยกระดับการบริการของ ทดม.
โดยปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต สอดคล้องกับบทบาททางยุทธศาสตร์ “ท่าอากาศยานที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย” หรือ “Fast and Hassle-free Airport”
การที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กลับมาให้บริการที่ ทดม. เปิดโอกาสให้ ทดม.ได้แสดงศักยภาพในการเป็นท่าอากาศยานที่พร้อมรองรับผู้โดยสารจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ กลายเป็น Low-Cost Hub และสอดคล้องกับโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 โดยเชื่อมั่นว่า ทดม.จะสามารถติดอันดับที่ดีขึ้นได้ในอนาคต จากปัจจุบันทดม.ติดอันดับ 10 ของท่าอากาศยานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) จากการจัดอันดับของ Skytrax โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคของประเทศไทยต้องร่วมมือและมีหลายมิติที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน นอกจากการกระตุ้นอุปสงค์ (Demand) แล้ว การทำให้เกิดอุปสงค์ของตลาด (Market Demand) โดยการเพิ่มขีดความสามารถของระบบการบินให้หลากหลายขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญไปสู่เป้าหมายการย้ายฐานปฏิบัติการของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการที่สำคัญ ซึ่งส่งผลดีต่อการบริหารจัดการระบบท่าอากาศยานที่สำคัญของประเทศ
โดยการทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สำหรับการพัฒนาเป็นสนามบินเพื่อการเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศของการเดินทางในระยะไกล (Long-haul flights) ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองก็มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการเป็นสนามบินที่เชื่อมโยงเที่ยวบินระหว่างประเทศในระยะใกล้ถึงปานกลาง (Short-haul and Medium-haul flights) กับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการวางแผนและพัฒนาระบบสนามบินเชิงบูรณาการของประเทศ (National Plan of Integrated Airport Systems) ที่เป็นหนึ่งในแผนหลักภายใต้เป้าหมายศูนย์กลางการบินของไทยตามนโยบายรัฐบาลที่ กพท. กำลังพยายามขับเคลื่อนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอยู่ในขณะนี้