ผู้ชมทั้งหมด 424
“แอร์เอเชีย” ครองแชมป์ เส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่วนแบ่งการตลาดนิวไฮ 40% ตั้งเป้าผู้โดยสารสิ้นปีโต 20% พร้อมเปิดบิน 6 เส้นทางใหม่ เน้นตลาดอินเดีย อาเซียน
นางสาวธันย์สิตา อัครฤทธิภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนการเติบโตและภาพรวมตลาดระหว่างประเทศว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 (ม.ค. – มิ.ย.) แอร์เอเชีย มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยทุกเส้นทางอยู่ที่ร้อยละ 89 โดยตลาดที่โดดเด่น ได้แก่ จีน ที่มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 92 อินเดีย ร้อยละ 91 และอาเซียนร้อยละ 89
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา รวม 17.5 ล้านคน ซึ่ง 3 กลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก คือ 1.จีน จำนวน 3.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการแอร์เอเชีย 4.48 แสนคน หรือคิดเป็น 15% 2.มาเลเซีย จำนวน 2.4 ล้านคน เป็นผู้โดยสารแอร์เอเชีย 3.51 แสนคน หรือคิดเป็น 15% และ3.อินเดีย จำนวน 1 ล้านคน เป็นผู้โดยสารแอร์เอเชีย 2.11 แสนคน หรือคิดเป็น 20%
นางสาวธันย์สิตา กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของเส้นทางบินระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีปริมาณที่นั่ง (capacity) กลับมาใกล้เคียงปี 2562 โดยมีปัจจัยบวกมาจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น มาตรการฟรีวีซ่า การเจรจาสิทธิการบิน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางง่ายขึ้น และประหยัดขึ้น จึงเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ และต่างชาติที่เดินทางเข้าเมืองไทย
สำหรับเส้นทางใหม่ล่าสุดของไทยแอร์เอเชีย คือ “ดอนเมือง-ไฮเดอราบัด” เป็นเส้นทางใหม่ในอินเดียที่แอร์เอเชียยังไม่เคยบินมาก่อน ซึ่งการเปิดเส้นทางนี้เป็นผลจากการที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาได้สิทธิการบินระหว่างไทย-อินเดีย เพิ่มที่นั่งเที่ยวบินระหว่างประเทศระหว่างกัน จึงเป็นโอกาสดีของแอร์เอเชีย ที่ได้ขยายเส้นทางบินไปยังเมืองใหญ่ของอินเดีย
ขณะที่เส้นทาง “ภูเก็ต-เสียมราฐ” เป็นเส้นทางที่เป็นความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ บินตรงจากภูเก็ต สู่เมืองมรดกโลกของกัมพูชา โดยเสียมราฐเป็นเมืองสุดฮอตของชาวต่างชาติ ซึ่งการเปิดเส้นทางบินนี้น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวภูเก็ตได้เชื่อมโยงการเดินทางไปสัมผัสเมืองมรดกโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันแอร์เอเขียบินตรงสู่ประเทศอินเดียมากสุด 12 เมือง ได้แก่ โกลกาตา เชนไน ชัยปุระ โกชิ บังกาลอร์ คยา ลัคเนา อัห์มดาบาด กูวาฮาติ วิศาขาปัตตนัม ติรุจิรัปปัลลิ และเส้นทางล่าสุด สู่ไฮเดอราบัด รวม 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะที่เส้นทางเส้นทางบินตรงสู่กัมพูชา จำนวน 3 เส้นทาง สู่ 2 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – พนมเปญ และเสียมราฐ และเส้นทางล่าสุด ภูเก็ต-เสียมราฐ
ทั้งนี้แอร์เอเชียตั้งเป้าว่าในเดือน ส.ค.นี้ จะทยอยเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศอีก 3 เส้นทางใหม่ รวมเป็น 6 เส้นทางในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย 67) โดยจะเน้นตลาดอินเดียและอาเซียนที่กำลังเติบโต ส่วนโปรโมชั่นของ 2 เส้นทางบินใหม่กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – ไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ราคาเริ่มต้นที่ 2,990 บาทต่อเที่ยวบิน และเส้นทางภูเก็ต-เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ราคาเริ่มต้นที่ 1,550 บาทต่อเที่ยวบิน เริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.- 4 ส.ค. 67 เพื่อใช้เดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.67 – 29 มี.ค.68
“แอร์เอเชียตั้งเป้าว่าในปี 2567 เราจะมีจำนวนผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 8-9 ล้านคน หรือเติบโตราว 20% ซึ่งปัจจุบันถือว่าเรามีส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นเบอร์ 1 หรือคิดเป็น 40% ซึ่งถือว่าปีนี้เป็นนิวไฮ ขณะที่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรามีส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศอยู่ที่ 32%” นางสาวธันย์สิตา กล่าว
สำหรับตลาดการบินระหว่างประเทศของแอร์เอเชีย แบ่งออกเป็น ตลาดอาเซียน (8 ประเทศ) ประมาณ 50% และจีน 18% และสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเป็น 20% และตลาดอินเดียอยู่ที่ 10% ตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2568 จะขยับเป็น 20% ซึ่งตลาดอินเดียคงต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี ในการเติบโต เนื่องด้วยข้อจำกัดจากสิทธิทางการบิน และกำลังซื้อของประชากร และมองว่าไม่น่าจะโตแซงตลาดจีนที่ยังคงเป็นตลาดหลักของไทยอยู่ได้ แม้ว่าจีนจะดรอปลงไปบ้างจากภาวะเศรษฐกิจทำให้จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 55% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ปี 2568 น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 65% จากการเปิดบินเส้นทางใหม่ๆที่กำลังศึกษาอยู่