แผน Oil Plan 2023 พร้อมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ดันกระตุ้นเศรษฐกิจแสนลบ.

ผู้ชมทั้งหมด 875 

กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เคาะแผน Oil Plan 2023 หลังรอเปิดรับฟังความเห็นประชาชนพร้อมแผนPDP ฉบับใหม่ คาดกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบกว่า 2 แสนล้านบาท จ่อลดชนิดน้ำมันลง เหลือดีเซลและแก๊สโซฮอล์อย่างละเกรด

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2023) ว่า กรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดทำแผนฯเสร็จเรียบร้อยแล้ว และรอรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ให้แล้วเสร็จ จากจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่คาดว่าต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบต่อไป

โดยแผนฯดังกล่าว ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการในระยะ 5 ปี (2566-2570) ออกเป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่  

1. บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเตรียมศึกษาปรับปรุงอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานร่วมกับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 จากปัจจุบัน กำหนดให้สำรองน้ำมันตามกฎหมาย 6% แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 5% และน้ำมันสำเร็จรูป 1% หรือรวมกันอยู่ที่ประมาณ 63 วัน

2. การบริหารชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งด้วยการลดชนิดน้ำมันและส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยในปี 2567 มุ่งให้น้ำมันดีเซล B7 เป็นดีเซลหลัก แต่หากผลทดสอบยูโร 5 สามารถใช้กับดีเซล B10 ได้ก็จะปรับเป็น B10 ในอนาคต ส่วนกลุ่มเบนซินกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 เป็นเบนซินชนิดหลักภายในปี 2570 ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ภาคขนส่งมุ่งส่งเสริมให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

“กรมฯ มีเป้าหมายที่จะลดหัวจ่ายน้ำมันในสถานีบริการลง โดยอยากให้กลุ่มดีเซล เหลือจำหน่ายเพียงเกรดเดียว และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ก็เหลือเกรดเดียวเช่นกัน ซึ่งเดิมอยากให้ใช้ E20 เป็นน้ำมันหลัก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชนด้วย ถ้าไม่สามารถผลักดันได้ สุดท้ายกลไกตลาดก็จะเน้น E10 เป็นน้ำมันหลักแทน รวมถึงยังมีเป้าหมายที่จะประกาศยกเลิกแก๊สโซฮอล์ระหว่าง 95 กับ 91 ให้เหลือชนิดเดียวด้วย”

อย่างไรก็ตาม การปรับลดชนิดน้ำมันในแผน Oil Plan ได้คำนึงถึงการสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่กำหนดให้ดำเนินการไม่เกินปี 2569 เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถนำเงินมาอุดหนุนราคาน้ำมันได้อีกต่อไป และการลดชนิดน้ำมันลงยังจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำมันในประเทศ

3. ส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งส่งเสริมระบบขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ผ่านการบริหารที่มุ่งเน้นแบบ Single Operator เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และสถานีบริการทั่วประเทศ ส่งเสริมการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเร่งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นทิศทางเดียวกัน และพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานผ่านระบบ e-Service คาดว่าจะศึกษาจัดวางระบบได้ภายในปี 2566 และเปิดขออนุมัติ อนุญาตกิจการด้านความปลอดภัยได้ภายในปี 2567 และขยายการใช้งานระบบไปยังส่วนภูมิภาคได้ภายในปี 2568

4. ส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses) โดยการสนับสนุนการปรับตัวของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมจากผลกระทบการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยมุ่งให้โรงกลั่นปรับไปสู่โรงกลั่นชีวภาพ และนำไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง โดยจะเป็นตัวกลางในการประสานการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 34,900 ล้านบาทภายใน 5 ปี

“การทำแผนน้ำมันฯ คำนึงถึงการเติบโตของรถEV ที่คาดว่า ช่วง 10 ปีแรกของแผน ประชาชนจะยังคงนิยมใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์อยู่ แต่ในช่วง 10 ปีหลังของแผน หากภาครัฐสามารถบรรลุผลการส่งเสริมรถ EV ก็จะส่งผลให้การใช้น้ำมันในประเทศลดลง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมธุรกิจใหม่เข้ามาทดแทน”

ดังนั้น คาดว่าการขับเคลื่อน Oil Plan ตลอดแผนจะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ประกอบด้วยด้านสังคมคือการช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานและกลุ่มแปรรูปผลผลิต (ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง) มีรายได้ 170,000 ล้านบาทต่อปี ด้านเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ของกลุ่มโรงกลั่น 34,900 ล้านบาท (ในระยะ 5 ปี) และยังเกิดประโยชน์ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา