ผู้ชมทั้งหมด 701
เออาร์วี ร่วมกับ โรโตเทค เปิดให้บริการนวัตกรรม “โรโต ไคลม์เมอร์” หุ่นยนต์ตรวจสอบ และบํารุงรักษาท่อแนวตั้งเครื่องแรกของโลก เพิ่มประสิทธิภาพในงานซ่อมบำรุงให้กับธุรกิจปิโตรเลียม
นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท.สผ. กล่าวว่า เออาร์วี กับบริษัท โรโตเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญบริการด้านหุ่นยนต์จากสิงคโปร์ ได้ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ “โรโต ไคลม์เมอร์” (Roto Climber) เครื่องแรกของโลก เพื่อให้บริการตรวจสอบ และบํารุงรักษา รวมทั้งทําความสะอาดท่อประเภทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ท่อส่งปิโตรเลียม ท่อขุดเจาะปิโตรเลียม ท่อสูบน้ำทะเลบนแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ท่อในท่าเทียบเรือ และหอกังหันลม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาสำหรับท่อแนวตั้งครั้งแรกของโลก จากเดิมที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับท่อแนวนอนเท่านั้น ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหลายรายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสนใจที่จะใช้บริการ โรโต ไคลม์เมอร์
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมธุรกิจบริการด้านการตรวจสอบ และบำรุงรักษาโครงสร้าง สิ่งติดตั้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับท่อในแนวตั้ง สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมและวิธีการแบบใหม่ ขณะนี้ เออาร์วี และโรโตเทค กำลังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของ โรโต ไคลม์เมอร์ ไปอีกขั้น เพื่อให้บริการซ่อมแซม เจาะ และตัดโครงสร้างต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถรองรับ ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาของธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น”นายธนา กล่าว
นาย ไซมอน ฮาร์ท็อก (Mr. Simon Hartog) กรรมการผู้จัดการ โรโตเทค เปิดเผยว่า “โรโต ไคลม์เมอร์ ปฏิบัติงานด้วยการควบคุมจากระยะไกล โดยไม่ต้องอาศัยนักประดาน้ำและเรือสนับสนุน จึงลดความเสี่ยงของบุคลากรจากการทำงานในพื้นที่อันตราย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก รวมทั้ง ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย”
โรโต ไคลม์เมอร์ ปฏิบัติงานได้ทั้งในพื้นที่เหนือระดับน้ำ บริเวณระดับน้ำ และใต้ผิวน้ำลึกสุดถึง 200 เมตร หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบาจึงติดตั้งได้ง่าย โรโต ไคลม์เมอร์ ทำงานโดยยึดเกาะและเคลื่อนที่ไปตามแนวตั้งของท่อ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างของท่อโดยละเอียด สามารถวัดความหนาของผนังเพื่อตรวจจับการสึกกร่อน และทําความสะอาดโครงสร้างภายนอกไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องคุณภาพสูง เพื่อรายงานการทำงานในรูปแบบวิดีโอได้อย่างเรียลไทม์ สำหรับการติดตามและวิเคราะห์ผลอีกด้วย