“เอกชน” จี้ “รัฐ” แก้ระเบียบเอื้อใช้ไฟ RE 100 พร้อมทบทวนอัตรา “วิลลิ่งชาร์จ”

ผู้ชมทั้งหมด 1,014 

“รัฐ-เอกชน” หนุนไทย ขับเคลื่อนการลงทุนพลังงานหมุนเวียน สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 ด้าน กฟผ.ลุยแผนลงทุน โซลาร์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน 2,725 เมกะวัตต์ รับซื้อพลังงานจากลาว 3,500 เมกะวัตต์ตามแผนPDP ขณะที่ “เอกชน” จี้ รัฐปลดล็อกระเบียน เอื้อผลิตไฟ RE 100 พร้อมขอลดอัตรา “วิลลิ่งชาร์จ” เหลือ 50-70 สตางค์ต่อหน่วย เปิดทางลงทุนผลิตไฟใช้เอง  

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “แผนพลังงานไทยและเส้นทางการมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” โดยระบุว่า กฟผ.ได้จัดเตรียมแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าให้สอดรับกับ การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ (PDP 2022) ที่ลดเรื่องของการจัดส่งไฟฟ้าข้ามภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งปัจจุบัน ในส่วนของภาคใต้นั้นการจัดส่งไฟฟ้ายังพึ่งพาสร้างส่งและโรงไฟฟ้าจากภาคตะวันตกที่ส่วนใหญ่รับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา เพื่อลดการสูญเสียในระบบส่ง และตอบโจทย์เรื่องของ Carbon Neutral ที่เดิมมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 30% ภายในปี 2580

โดยตามแผน PDP กฟผ.จะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าดั้งเดิม(ก๊าซ) ประมาณ 6,150 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน ซึ่งได้คำนวณการปล่อยคาร์บอนไว้แล้ว ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน (Hydro-floating Solar Hybrid) กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ และยังมีแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำ จาก ลาว 5 ปี ปีละ 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,500 เมกะวัตต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ตามแผนระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม การที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าร่วมการประชุมผู้นำ COP26 ได้ร่วมประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ส่งผลให้ประเทศไทย ต้องเร่งวางแผนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ระยะสั้นให้เกิดได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการส่งเสริมให้ภาคประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อบรรลุเป้าหมายมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน แตะ 30 % เร็วขึ้น หรือภายใน 10 ปี ดังนั้น กฟผ.ก็พร้อมสนับสนุนช่วงการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย  Carbon Neutrality

นายอำพล สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.ได้ดำเนินการตามแผน PDP เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ทั้งการส่งเสริมเรื่องของกรีนคาร์บอน และ Net Zero โดยเริ่มจากในส่วนขององค์กรจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ขณะที่ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้า จะส่งเสริมเรื่องของการลดใช้ไฟฟ้าลง ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน และ โครงการ Energy Mind Award เพื่อผลักดันภาคธุรกิจให้เกิดการลดใช้พลังงาน

“กฟน.พยายามทำให้ระบบรองรับเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนได้สะดวกมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายรัฐ รวมถึงส่งเสริมเรื่องของสมาร์ทกริด เพื่อรับมือกับ Disruptive technology และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งจะได้ขยายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายพงศกร ยุทธโกวิท ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ลูกค้า กฟภ. ในปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และลูกค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางส่วนก็ลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หวังลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral นโยบายของภาครัฐต้องชัดเจน และส่งเสริมเรื่องของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียน (อาร์อี 100) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการในสมาคมฯ ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้ RE 100 โดยเร็ว เพื่อป้องกันเรื่องของการกีดกันการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป แต่หากยังไม่สามารถแก้ไขกฎระเบียนต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดเรื่องของ RE 100 ได้โดยเร็วนั้น  ทางสภาอุตฯ ก็จะนำเรื่องของ Digital Trading Platform ที่เป็นการพัฒนาระบบบล็อกเชนขึ้นมาใช้เป็นตลาดให้สินค้าที่หลากหลายขึ้นมาใช้ ซึ่งสินค้าก็จะมีหลายประเภท เช่น คาร์บอนเครดิต , T-VER และ RECs เป็นต้น ก็จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มทำการซื้อขายคารืบอนเครดิตได้ในช่วงกลางเดือนหน้า

อย่างไรก็ตาม การจผลักดันไปสู่ RE 100 นั้น หากประเมินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน อยู่ระดับกว่า 50,000 เมกะวัตต์ มีการใช้ไฟฟ้าจริงอยู่ที่ ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และในส่วนนี้เป็นพลังงานฟอสซิล อยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่เหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องหาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทย มีแผนจะผลักดันการใชรถEV ซึ่งตามประมาณการคาดว่า ในปี ค.ศ.2050 มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นทวีคูณ ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ และลม จะเป็นคำตอบ แต่ต้องเร่งพัฒนาเรื่องของแบตตอรี่ หรือ ไฮโดรเจน เข้ามาเป็นพลังงานหลักที่ซัพพอร์ตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักด้วย โดยหากดำเนินการได้ตามนี้ ก็จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral

นายภูวดล สุนทรวิภาต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย(TPVA) กล่าวว่า  ประเทศไทย ประเมินว่า ในอนาคตจะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ จากที่มีการรับซื้อไฟ้ฟาเข้าระบบแล้วราว 3,000 เมกะวัตต์ และมีแผนจะรับซื้อตาม PDP อีก 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นการติดตั้งจากภาคประชาชน และ ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบ (IPS)หรือ Independent Power Supply แต่ปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่เปิดกว้างให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วม หรือ ส่งผ่านเข้าสู่สายส่งไฟฟ้าหลักได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน

“วันนี้ เท่าที่คุยกัน รัฐ จะคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) อยู่ที่ประมาณ 1.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงอยู่ ดังนั้น ตัวเลขที่เอกชนต้องการ มองว่า ควรอยู่ที่ 50-70 สตางค์ต่อเหน่วย ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่เอื้อให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียน และทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้