ผู้ชมทั้งหมด 2,113
“เศรษฐา” ประกาศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค พร้อมเร่งทบทวนแผนแม่บทใหม่ดันสุวรรณภูมิ ติด 1 ใน 50 สนามบินที่ดีสุดของโลก ใน 1 ปี และติดท๊อปใน 20 ภายใน 5 ปี
เมื่อ วันที่ 1 มี.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ว่า รัฐบาลเชื่อว่าไทยมีศักยภาพและพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดึงศักยภาพออกมาให้ทั่วโลกได้รับรู้
โดยเมื่อปี 2548 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทาภ.) เคยติดอันดับสนามบินดีที่สุดของโลกอันดับที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ลดลงมา 55 อันดับ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปีให้ได้ เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดบินเสรีการบินอาเซียน โดยการประกาศวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งกำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
สำหรับแผนการพัฒนาทสภ.ใน พื้นที่กว่า 20,000 ไร่ นั้นรัฐบาลมีแผนที่จะขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้ AOT ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีภายในระยะเวลา 6 เดือน และในปี 2567 เตรียมจะเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567 หรือเร็วกว่านั้น เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง
รวมถึงยังมีแผนพัฒนาขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เข่น โครงการก่อสร้าส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก (East-West Expansion) เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 30 ล้านคนต่อปี รวมถึงมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ (South Terminal) ให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมงด้วย
ส่วนขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง นั้นจะต้องปรับปรุงให้มีความคล่องตัว รวดเร็วขึ้น และต้องแก้ไขปัญหาได้ภายใน 6 เดือน รวมถึงการเปิดเช็กอิน-โหลดสัมภาระแบบอัตโนมัติ โดยให้เพิ่มการเปิดเช็กอินและโหลดสัมภาระก่อนเครื่องบินจะขึ้น 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเดินช็อปปิ้งได้โดยไม่ต้องกังวล พร้อมเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการภาคพื้นดินมากขึ้น โดยมีการคัดเลือกบริษัท มีตัวชี้วัดการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงลดระดับบริษัทที่ให้บริการไม่ดี
ทั้งนี้มั่นใจว่า 6 เดือนหลังจากนี้ จะมีการให้บริการที่รวดเร็ว สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงขั้นตอนการถ่ายสินค้าต้องเชื่อมโยง รวดเร็ว สะดวกขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยจะต้องทำให้ก้าวแรกที่ก้าวเข้ามาสู่ประเทศไทยของผู้โดยสารเกิดความประทับใจ
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยนสนามบินให้เป็นสนามบินแบบ Point to Point มีจุดเด่นให้บริการเข้า-ออกได้เร็วขึ้น ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม และจะขยายอาคาร 1 และอาคาร 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคนต่อปี และจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี
อีกทั้งมีแผนจะก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นที่พื้นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ให้เป็นแหล่งจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป พัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่จอดรถได้มากถึง 7,600 คัน จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชนอีกด้วย
ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตนั้นรัฐบาลมีแผนจะสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง และจะพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับจำนวนรถให้ได้มากขึ้น และให้เรือยอร์ชขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้
นอกจากนี้ รัฐบาลจะพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 และกำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น-ลงในทะเล รองรับผู้โดยสารชั้นสูงเชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน เป็นต้น ส่วนท่าอากาศยานอันดามันที่มีแผนจะสร้างขึ้น จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point
สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ หรือเรียกว่าสนามบินล้านนา เพราะรองรับประชาชนจังหวัดใกล้เคียงเชียงใหม่ด้วย รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมได้เพียง 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2572 รวมทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี และจะเป็น Homebase ของสายการบิน อย่าง Thai VietJet เป็นต้น
ทั้งนี้ตั้งแต่มีการปลดล็อกให้มีการบินขึ้นลงได้หลังเที่ยงคืน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน สนามบินเมืองรองต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับเมืองหลัก ให้เมืองรองกลางเป็นเมืองหลักให้ได้ รวมทั้งการใช้สนามบินร่วมกับกองทัพ ซึ่งปัจจุบันต้องใช้ความมั่นคงควบคู่กับความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลจะยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวของโลก ผ่านการผลิตอาหารให้กับสายการบินต่างๆ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไทย นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสู่อาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก
ที่สำคัญรัฐบาลยังมีแผนจะขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคนทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และจะร่วมกันพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ ไปพร้อมๆ กับสร้างความยั่งยืนผ่านการดึงดูดสายการบินด้วยเชื้อเพลิง SAF และส่งเสริมการผลิตในประเทศ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค คือจะต้องยกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายในระยะเวลา 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ภายใน 5 ปี ถือเป็นความฝันที่ต้องการให้เป็นจริง ผมขอประกาศว่า เราตื่นจากความฝันแล้ว ขอให้ทุกคนตื่นมาร่วมกันพัฒนาให้ความฝันเป็นจริง ทุกคนมีส่วนร่วมทำฝันให้เป็นจริง ขอให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนช่วยดึงศักยภาพ ช่วยกันทำความฝันให้เป็นจริง” นายเศรษฐากล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมมนาคมพร้อมรับวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีและจะดำเนินการให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ ที่วางไว้ ซึ่งในเดือนหน้าบริษัทที่จัดอันดับสนามบิน จะเดินทางมายังประเทศไทย ตนก็จะถือโอกาสไปพบและดูหัวข้อ การจัดอันดับสนามบินว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ AOT ต้องปรับปรุงเพื่อยกอันดับสนามบินได้ โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญ ของการให้คะแนน คือเรื่องห้องน้ำที่จะต้องสะอาด ตนจึง สั่งการให้ AOT ไปปรับปรุงห้องน้ำต่างๆ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งในเรื่องของความสะอาดและกลิ่น และเรื่องของจำนวนห้องน้ำ โดยให้ศึกษาดูงานห้องน้ำที่ห้างสรรพสินค้าพารากอนเป็นตัวอย่างว่าทำอย่างไรถึง มีกลิ่นหอมและสะอาดมากก่อนนำมาปรับใช้กับสนามบินของAOT ซึ่งถือเป็นความใส่ใจตามที่นายกรัฐมนตรีบอกเพราะต้องใส่ใจถึงจะมีผลงานที่ดีขึ้นได้
“ผมเชื่อมั่น 100% ว่าจะทำตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน “นายสุริยะ กล่าวและว่าส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 150 คนต่อปีนั้น เบื้องต้นไม่ได้มีการพูดถึงโครงการก่อสร้างอาคารทางด้านทิศเหนือเนื่องจากมีแผนก่อสร้างอาคารทางด้านทิศใต้แทนเพราะตอบโจทย์มากกว่า โดยจะไม่มีเกาะการก่อสร้างอาคารทางด้านทิศเหนืออีกแล้ว โดยการก่อสร้างอาคารทางด้านทิศใต้อยากจะให้มีการดำเนินการ จัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานนั้น AOT จะดูในเรื่องของบริการเป็นหลัก เพราะมาตรฐานคุณภาพการให้บริการจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ ผู้เดินทางมีความประทับใจและทำให้อันดับของท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิดีขึ้น โดยจะดูแลทั้ง กระบวนการตรวจเช็คอินน์และการตรวจค้น และการตรวจคนเข้าเมืองซึ่ง AOT พร้อมที่จะประสานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)ในการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตม.อีก 600 คน เพื่อลดระยะเวลาในการคอย รวมถึงจัดหาเจ้าหน้าที่ของ AOT อีก 800 อัตราเข้ามาดำเนินการเสริม ในเรื่องกระบวนการตรวจค้นการแนะนำผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
ขณะที่แผนการดำเนินงานที่จะทำให้ทสภ.ติดหนึ่งใน 20 ของสนามบินที่ดีที่สุดของโลกนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงของโครงสร้างซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน ให้ AOT เร่งรัดการลงทุนในส่วน ของการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตก และอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก ซึ่งอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออกจะทำการเปิดประมูลในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่อีก 10,000 ตารางเมตรจากเดิม 450,000 ตารางเมตรเป็น 550,000 ตารางเมตร ส่วนอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกจะเพิ่มได้อีก 100,000 ตารางเมตรก็จะรวมเป็นทั้งหมด 650,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่ 30% และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคนต่อปี
รวมถึงแผนระยะยาวในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศใต้ซึ่งนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นโครงการตามแผนแม่บทเดิมอยู่แล้ว มีศักยภาพในการจะเพิ่มช่องทางเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิจากเดิมที่จะเข้าได้เพียงทางด้าน พระราม 9 ถนนมอเตอร์เวย์เพียงอย่างเดียวก็สามารถที่จะเข้าได้ทางถนนบางนาตราดด้วย โดยจะมีขนาดเท่าๆกับ อาคารผู้โดยสารหลัก ส่งผลให้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารก้าวกระโดด จาก 90 ล้านคนต่อปีไปสู่จุดสูงสุดที่ 150 ล้านคนต่อปีได้ และเมื่อถึงเวลานั้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะกลายเป็นท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ1ใน5ของโลก
นายกีรติ กล่าวว่า AOT อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาทบทวนแผนแม่บทให้แล้วเสร็จภายใน6เดือน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.67 เบื้องต้น การทบทวนแผนแม่บทยังไม่มีข้อสรุปว่าจะตัดแผนการสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศเหนือออกหรือไม่แต่หากคำนึงถึงเป้าหมาย 150 ล้านคนต่อปีอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศใต้น่าจะสามารถตอบโจทย์ได้มากกว่า ดังนั้นควรลงทุนครั้งเดียวให้เกิดศักยภาพในการลงทุนสูงสุด ทั้งนี้เมื่อแผนแล้วเสร็จน่าจะวามารถเริ่มออกแบบอาคารด้านทิศใค้ได้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลช่วงปลาย ปี 68 ไม่เกินต้นปี69 เริ่มก่อสร้างได้ในช่วง ปี 69 และใช้เวลาดำเนินการ4ปีน่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี72
อย่างไรก็ตามการลงทุนของ AOT ต้องดูกระแสเงินสดเป็นหลักด้วย เนื่องจากการก่อสร้างใช้กระแสเงินสดของทอออทอโดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ ดังนั้นคงต้องดูความยั่งยืนด้านการเงิน แต่มั่นใจว่าการพัฒนาขยายขีดความสามารถ ทสภ. จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน