เวทีเสวนา “นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ”ด้านพลังงาน จี้ “รัฐ” เร่งคลอดแผน PDP ฉบับใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 53 

เวทีเสวนาวิชาการ “นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านพลังงาน จี้ “รัฐ” เร่งคลอดแผน PDP ฉบับใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้าเป็นธรรม ด้าน TDRI แนะปรับพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า สร้างสมดุลพลังงานทั้ง ราคา และความมั่นคง ทบทวนแผนสร้าง LNG terminal 3 เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด ขณะที่ “คุรุจิต” แนะเร่งเจรจาการแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา (TC-OCA) ลดนำเข้าก๊าซ หนุนรับซื้อไฟฟ้าผ่านระบบแข่งขันด้านราคา

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) หรือ PDP 2024 คือ แผนแม่บท ในการจัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ และกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศไทย ระยะยาว 15-20 ปี ร่างแผนฉบับนี้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นตั้งแต่เมื่อกลางปี 2567 แต่จนแล้วจนรอด ถึงปี 2568 แผนนี้ก็ยังไม่ได้ปล่อยออกมาให้ได้เห็นกันสักที

ผ่านมาเกือบปี ไม่ใช่แค่เวลาเท่านั้นที่กำลังเสีย อีกผลกระทบหนึ่งที่ต้องเสียด้วย คือ “ราคาค่าไฟแพง” ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายทุกเดือน อีกทั้งเมื่อแผนแม่บทยังไม่ได้กำหนดทิศทางชัดเจน การลงทุน การสร้างโครงสร้างต่างๆ ก็ถูกดำเนินต่อไป โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสียง กลายมาเป็นอีกผลกระทบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยกันจ่าย

SDG Move TH และ Data Hatch จึงร่วมจัดงานเสวนาสาธารณะออนไลน์ ตั้งคำถาม ข้อสังเกต และตั้งวงทวงหา PDP 2024 (หรือ 2025) ที่ควรจะออกมาให้เห็นสักที เริ่มต้นงานกันด้วยประเด็นสุดเข้มข้นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บรรยายในหัวข้อ “ความเงียบใน PDP ทำค่าไฟแพง ส่งเสียงอย่างไรให้ระบบไฟฟ้าไทยแฟร์” โดยระบุว่า TDRI ตั้งข้อสังเกต สู่ 3 ปัญหาของร่างแผน PDP 2024 ดังนี้ ปัญหาแรก คือ ก่อภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นส่งผลให้ค่าไฟแพง กระทบสมดุลพลังงานด้านราคา และความมั่นคง ทั้งต้นทุนจากการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯและน้ำ,ต้นทุนการสร้าง LNG terminal 3 มูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท และต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย จากการสำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับ

ปัญหาที่สอง คือ ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต่ำเกินไฟ กระทบสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืน ทั้งเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำไฟ และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นจาก Hydrogen

ปัญหาที่สาม คือ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืน ในการเร่งพลังงานสะอาดให้ทันใช้ เช่น ไม่ระบุโครงการโซลาร์ภาคประชาชน และไม่มีการระบุการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้าเสรี

“จริงๆ ใจไม่อยากให้สร้าง LNG terminal 3 แต่ถ้าจำเป็นต้องสร้าง ก็ควรดูว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่าไหม ส่วนการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,200 เมกะวัตต์ ก็ควรไปดูว่าจะมีวิธีใดที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือ ปรับวิธีการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

TDRI จึงมีข้อเสนอแนะ การปรับแผน PDP เพื่อสร้างสมดุลพลังงานให้เกิดขึ้นทันต่อความต้องการของประเทศ ดังนี้

1. ปรับการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ โดยสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านราคาและความมั่นคง เช่น หยุดการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่,หยุดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ภาครัฐรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมด และเปลี่ยนลำดับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า

2.ใช้ศักยภาพของ Energy technology มากขึ้น โดยสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืน เช่น ควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงเร่งลงทุนและพัฒนา Energy storage ระบบไมโครกริด และ Demand Response

3.ปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า โดยสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืนในการเร่งพลังงานสะอาดให้ทันใช้ เช่น ตั้งเป้าการสนับสนุนผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และอนุมัติเพิ่ม Quota และปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing ให้สูงขึ้น และตั้งเป้าการเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยการเปิดสิทธิ์ให้เอกชนเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าด้วยค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของก๊าซในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ที่ ‘พอดี’ และ ‘ดีพอ’ ที่จะไม่กระทบค่าไฟ” โดยระบุว่า แผน PDP ควรปรับเปลี่ยนจาก ตลาดที่ควบคุม (Regulated) ไปสู่ ตลาดที่มีการแข่งขัน (Competitive markets) ซึ่งจะเห็นว่าผลการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอดีตที่ผิดพลาด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไป และบางช่วงเวลามีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 50% ส่งผลพวงต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

รวมถึง ปัจจุบัน ไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น กระทบต่อการตัดสินใจของมาลงทุนในประเทศของนักลงทุน และสูญเสียค่าภาคหลวง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การพยายามหาแห่งก๊าซฯในประเทศ รวมถึงควรส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล ไทย-กัมพูชา(OCA)

ทั้งนี้ มองว่า สิ่งที่ภาครัฐไม่ควรทำ เช่น อย่าอุดหนุนราคาพลังงานแบเหวี่ยงแห และอย่าฝืนกลไกตลาดเสรี ,อย่าฝืนกลไกตลาดเสรี และปิดประเทศ ,อย่าอ้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานเกินควรจนกระทบความมั่นคง ราคา และธรรมาภิบาล, อย่าสร้างกระแสเกลียดพลังงาน โดยอ้าง ระแวงเพื่อนบ้าน/ปัญหาสิ่งแวดล้อม/Human Right/ สินค้าแพง/ตลาดทุนนิยม

โดยสิ่งที่ภาครัฐควดำเนินการ เช่น ควรตั้งงบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้า,ปล่อยให้ราคาน้ำมัน และLPG ลอยตัวไม่ฝืนกลไกตลาด เพราะจะเสี่ยงขาดแคลน, เร่งเจรจาการแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา (TC-OCA) เพื่อเปิดพื้นที่สำรวจและเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯแทนที่จะปล่อยให้นำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อยๆ, ปรับโคงสร้างกิจการไฟฟ้า และการซื้อไฟฟ้าให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้า IPP/SPP ที่จะหมดอายุ แต่ให้มาแข่งขันเสนอค่าไฟฟ้าในตลาดเสรี และการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ควรมีกติกาที่โปร่งใส การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศควรใช้ระบบประมูลค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เจรจารายโครงการ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน  ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน สมาชิกวุฒิสภา อดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย “PDP 2024: ความเงียบสู่ราคาค่าไฟแพง การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการลงทุนที่ประชาชนไม่มีเสียง” โดยระบุว่า แผน PDP ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ค่าไฟแพงหรือถูก แต่อยู่ที่วิธีจัดการ ซึ่งผลพวงสุดท้ายจะสะท้อนไปยังปลายทางคือ ค่าไฟฟ้า  ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้า หรือ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในการเลือกเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่จะป้อนเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า จะต้องบริหารจัดการให้ดี รวมถึงโครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม ควรจะต้องปรับให้สอดรับกับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ควรยกเลิกอัตราค่าไฟฟ้าราคาเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ในเขตนิคมอุตสาหกรรม

ดังนั้น จำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าให้ชัดเจน และการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า จะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตถูกลงได้ โดยที่หน่วยงานภาครัฐต้องยึดการกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆให้ชัดเจน