เปิดอาณาจักร OR 5 ปี ขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ เร่งปั้มรายได้กลุ่ม Lifestyle  

ผู้ชมทั้งหมด 3,883 

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 จนถึงปัจจุบันปี 2566 ครบ 5 ปี แต่เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยราคา IPO ที่ 18 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา เสนอขาย IPO ที่ 208,980 ล้านบาท โดยหลังจากซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกจนถึง ณ ปัจจุบัน OR ได้เข้าลงทุนในธุรกิจต่างๆ หลากหลายประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน หรือที่ OR เรียกว่า ธุรกิจ Lifestyle เป็นการเติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน ซึ่งการลงทุนของ OR แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค. 66)

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการลงทุนผ่าน บริษัท มอดูลัสเวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR ที่ถือหุ้น 100% ประกอบด้วย ร้านอาหารญี่ปุ่น โคเอ็น ซูชิ ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล ดูซีน จำกัด หรือ ISGC ในวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท แลกกับหุ้น ISGC ในสัดส่วน 25%

ร้านอาหารโอ้กะจู๋ ลงทุนในบริษัท ปลูกผักเพราะรัก จำกัด ในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 20% ร้านเครื่องดื่มชา Kamu kamu ลงทุนในบริษัท คามุ คามุ จำกัด ในวงเงินไม่เกิน 480 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ร้านกาแฟ Pacamara โดยลงทุนในบริษัท Peaberry Thai ในสัดส่วน 81%

ขณะเดียวธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท มอดูลัสเวนเจอร์ จำกัด (Modulus) บริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% ยังได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (บุญรอดฯ) ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโครงการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม (RTD) เพื่อตอบสนองทุกความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น โดยบริษัทร่วมทุน ทาง Modulus ถือหุ้น 50% และบุญรอดฯ ถือหุ้น 50% ของทุนจดทะเบียน  โดยจะร่วมกันลงทุนในวงเงินลงทุนจัดตั้งบริษัทกว่า 400 ล้านบาท

นอกจากนี้ Modulus Venture บริษัทย่อยของ OR ยังได้เข้าลงทุน ใน “ดุสิตฟู้ดส์” บริษัทย่อยของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ในวงเงินไม่เกิน 299.6 ล้านบาท หรือเกือบ 300 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 25%

กลุ่มธุรกิจบริการ ทาง OR ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KNEX) ในวงเงิน 1,105 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 40% บริการขนส่ง Flash Express โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 8.8%  นอกจากนี้ยังลงทุนใน ธุรกิจร้านสะดวกซัก Otteri (อ๊อตเทริ) เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยใช้วงเงินลงทุนราว 1,105 ล้านบาท

กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล โดย OR เข้าลงทุนผ่าน Modulus Venture ร่วมลงทุนกับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK จัดตั้งบริษัท ORBIT Digital ด้วยวงเงิน 50 ล้านบาท โดย Modulus Venture ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อร่วมกันสร้าง Digital Platform ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด    

กลุ่มพลังงาน OR ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS จัดตั้งบริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด (Global Aero Associates) หรือ GAA เพื่อให้บริการระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา โดย OR ถือหุ้นในสัดส่วน 45% BAFS 55% และยังได้ลงทุนใน Phnom Penh Aviation Fuel Service (PPAFS) บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในพนมเปญ ร่วมลงทุนกับ CNAF และ TOTAL ในสัดส่วน 33.33% โดยเข้าลงทุนผ่าน SG HoldCo

กลุ่มสตาร์ทอัพ โดยการลงทุนผ่าน กองทุน “ออร์ซอน เวนเจอร์ส” (ORZON Ventures, L.P.) เพื่อการลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Lifestyle และ Mobility ซึ่งในปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้ว 6 สตาร์ทอัพ ประกอบด้วย 1.Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาพร้อมกับ concept “Tap Try Buy” ซึ่งแตกต่างและเป็นที่สนใจของลูกค้า ครอบคลุมการซื้อขายทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปัจจุบันได้ผันตัวมาเป็น Omnichannel Enabler ที่มีแบรนด์เข้าร่วมแล้วมากกว่า 500 รายทั้งในและต่างประเทศ

2.Carsome แพลตฟอร์มที่มีซื้อ-ขายรถยนต์มือสองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นตัวกลางในการซื้อหรือขายรถยนต์มือสอง มีนำเสนอบริการแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบสำหรับลูกค้า และดีลเลอร์รถยนต์มือสองทุกราย ตั้งแต่การตรวจสภาพรถยนต์ การโอนกรรมสิทธิ์ ไปจนถึงบริการทางด้านสินเชื่อ

3.Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบครบวงจร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการระบบอย่างมืออาชีพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบัน freshket มีสินค้าทั้งของสด และของแห้งให้เลือกกว่า 7,000 รายการ มีผู้ใช้งาน HoReCa กว่า 10,000 ราย มีบริการจัดส่งที่รวดเร็ว และสามารถเลือกเวลาจัดส่งได้ตามสะดวก

4.GoWabi แพลตฟอร์มชั้นนำของไทยที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับบริการทางด้านความงามและสุขภาพไว้ในที่เดียว โดยผู้ใช้สามารถหาข้อมูล ดูส่วนลด จองเวลา และจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของโออาร์ ที่ช่วยเสริม Lifestyle Ecosystem ให้กับลูกค้า นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการบน GoWabi กว่าพันรายสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

5.Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี AI สัญชาติไทยที่ได้ประยุกต์นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาชิกทีมประกอบไปด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่องค์กรเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่ Silicon Valley อย่าง Apple, Waymo และ UC Berkeley มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเดินทางและการขนส่งทั่วโลก สอดคล้องกับธุรกิจโออาร์ในด้าน Mobility ให้กับลูกค้า

6.Hungry Hub บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย แพลตฟอร์มจองร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ภายใต้โมเดล ‘ข้อเสนอพิเศษในการจองร้านอาหารแบบคุมงบได้’ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าร้านอาหาร และส่งเสริมให้ร้านอาหารสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างยั่งยืน 7.Traveloka โดย OR ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาทเข้าซื้อบางส่วนใน ทราเวลโลก้า (Traveloka) แพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติอินโดนีเซีย สำหรับการจองที่พักและเที่ยวบินออนไลน์ โดยเข้าลงทุนผ่าน SG HoldCo 8.Dezpax แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านโซชันบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแบบครบวงจร เป็นสตาร์ทอัพจากโครงการ ZERO TO ONE by SCG 9.Belanja Parts แฟลตฟอร์มศูนย์รวมการขายอะไหล่รถยนต์สำหรับอู่ซ่อมรถในอินโดนิเซีย

10. APX (Asia Pallet Express) ให้บริการขนส่งสินค้าแบบ Door-to-Door ผ่านแพลตฟอร์มการขนส่งที่ทันสมัยด้วยบริการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มคัน หรือ LTL (less-than-truckload) รวมถึงใช้พาเลทในการจัดส่งสินค้า APX มีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายขนส่งทางถนนที่เชื่อมต่อกันในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และ11.Sleek EV โดย OR ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท สลีค อีวีจำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย-สิงคโปร์ แบรนด์ SLEEK EV จะ ร่วมศึกษาโอกาสทางธุรกิจในรถจักรยายนต์ไฟฟ้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

นอกจากนี้ OR ยังได้ลงทุนใน Finnoventure Private Equity Trust 1 กองทุนเพื่อการลงทุนในสตาร์ทอัพ โดย Krungsri Finnovate และลงใน Seax Fund II เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech)

ทั้งนี้จากการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม Lifestyle มาอย่างต่อเนื่องนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 OR มีสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 21.6% ธุรกิจกลุ่ม Mobility อยู่ที่ 71.1% Global 6.6%  โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วน EBITDA กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เป็น 40-45% ภายในปี 2570