เที่ยวบินไทย-จีน ฟื้นตัว 8 เดือนโต 213% “สุรพงษ์”หนุนขยายตลาดบินเฉิงตู

ผู้ชมทั้งหมด 585 

“สุรพงษ์” เดินหน้าดันไทยเป็นฮับการบิน ชี้ตลาดจีนฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดปี 67 ปริมาณเที่ยวบินจีนเติบโต 126% พร้อมขยายตลาดทางการบินเฉิงตู หวังหนุนเที่ยวบินไปกลับเพิ่มขึ้น 265%

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย และยกระดับศักยภาพด้านการบินของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลไทยและจีนได้เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เที่ยวบินไทย – จีน มีสัดส่วนที่ สูงสุด คือ 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 (8 เดือน) ปริมาณเที่ยวบิน ไทย – จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 213% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย – จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นทั้งปี 126%”

ปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินจากจีนมาทำการบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่โดยมีทั้งเที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสาร ยกเว้นที่ดอนเมือง และสมุย มีตารางการบินล่วงหน้าสำหรับเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้นซึ่งขณะนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบิน ไทย – จีน อีกทั้งมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เฉิงตู ซึ่งประเทศไทยเตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ 

ทั้งนี้สนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไป-กลับเฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีเที่ยวบินไป–กลับเฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบิน ไป-กลับเฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265%” 

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้วิทยุการบินฯ เร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ซึ่งวิทยุการบินฯ ได้จัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการจราจรทางอากาศ อีกทั้งปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ และแนวทางบริหารจัดการ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้วิทยุการบินฯ เตรียมความพร้อมระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ และจัดเตรียมสถานที่สำหรับติดตั้งระบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2581 

โดยให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรปรับปรุงเส้นทางบินและออกแบบห้วงอากาศให้เหมาะสม รวมทั้งนำแนวทางปฏิบัติการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศหรือ ATFM มาใช้บริหารจัดการเที่ยวบินและเตรียมวางระบบบริหารจราจรทางอากาศสำรอง (Off-site Backup) ตามแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านบริการจราจรทางอากาศเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่มีศักยภาพเป็นไปตามมาตรฐานและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินของโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิทยุการบินฯ ได้เตรียมพร้อมยกระดับการให้บริการทุกด้าน โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการบินที่มีอยู่เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub)

นายพิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า วิทยุการบินฯได้เตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศ ความพร้อมในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นและอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทยที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด

วิทยุการบินฯ ได้เตรียมแนวทางวิธีปฏิบัติการให้บริการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน ตามโครงการพัฒนาและขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2  ได้แก่ การเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองระยะไกล หลังที่ 1 หรือ SAT-1 และการใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ที่จะเปิดให้บริการฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2567 รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง หรือ High Intensity Runway Operation (HIROs) ซึ่งเป็นการจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออก ให้ได้เทียบเท่าสนามบินชั้นนำของโลก ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุดเท่าที่ขีดความสามารถของสนามบินจะรองรับได้ อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และทำให้เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด

ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมเรื่องการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการบินว่า นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระยะเริ่มต้น(Phase 0) เพื่อสนับสนุนการบิน มุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศจากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเที่ยวบินจากจีน และการพัฒนาส่งเสริมให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต และจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ซึ่งได้นำแนวคิด Aerotropolis นี้มาจากต้นแบบ คือ สนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฟู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการที่วิทยุการบินฯ ต้องให้บริการในระดับสากล จึงจำเป็นต้องมาศึกษาเรียนรู้ข้อมูล การพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการสนามบินต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบริการของวิทยุการบินฯ ในทุกด้านต่อไป