ผู้ชมทั้งหมด 1,994
ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 9 ของปี 2564 เริ่มต้นเดือนกันยายน กับความหวังของคนไทย ที่อยากเห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง และผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal หลังจากรัฐบาลได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายกิจการ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ก็น่าจะเอื้อให้หลายกิจกรรมที่หยุดชะงักลง เริ่มกลับมาเดินหน้าขับเคลื่อนกันต่อ
“นโยบายพลังงาน” ของประเทศไทยก็เช่นกันในเดือนกันยายนนี้ มีหลายเรื่องที่ต้องจับตาความคืบหน้า เริ่มจากเรื่องแรก คือ นโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่) หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รับแจ้งจากผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper)รายใหม่ ทั้ง 6 ราย ไม่มีความประสงค์จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายใต้โควตา รวมอยู่ที่ 4.8 แสนตันในปี 2564
โดยมีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะ Shipper ที่ยังต้องการนำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้ทางบอร์ด กกพ.ไม่ได้ขัดข้อง แต่ยังต้องนำข้อมูลหรือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้เกิดความชัดเจนก่อน และคาดหวังว่าจะมีความชัดเจนภายในวันที่ 10 กันยายนนี้ เพื่อให้ Shipper มีระยะเวลาเตรียมการนำเข้า LNG ได้ทันในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม หาก กฟผ.ไม่ได้รับการอนุมัตินำเข้า LNG โควตานำเข้าก็จะตกไปอยู่ที่ ปตท.ในฐานะ Shipper รายแรกของประเทศที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน
เรื่องที่สอง คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ที่อยู่ในขั้นตอนการเปิดประมูล โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคจำนวน 95 ราย และมีผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 151 ราย โดยมีผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาในขั้นตอนของข้อเสนอทางเทคนิค ทั้งสองประเภทเชื้อเพลิงคือ โรงไฟฟ้าชีวภาพ และชีวมวลรวมกันจำนวน 118 ราย ซึ่งยังเหลืออีก 33 รายที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น กกพ. จึงมีมติให้ กฟภ. พิจารณาผู้ที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาจำนวน 33 รายอีกครั้งเพื่อความเป็นธรรมและให้ประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาทางเทคนิคเพิ่มเติมทั้งหมดภายในวันที่ 15 กันยายนนี้
ส่งผลให้ต้องเลื่อน การพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา ของคณะอนุกรรมการฯ และเสนอ กกพ. พิจารณา จากเดิมภายในวันที่ 1 ก.ย. 64 เลื่อนเป็นภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ และเลื่อนวันประกาศผลการพิจารณาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯเป็นวันที่ 23 กันยายน 2564 จากกำหนดเดิมในวันที่ 2 กันยายน 2564 ล่าช้า 21 วัน จากกำหนดการเดิม
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแจ้งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ภายใน 7 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ) จากเดิมภายในวันที่ 9 กันยายน 2564 เลื่อนเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ภายใน 120 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ) จากเดิมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เลื่อนเป็นภายในวันที่ 21 มกราคม 2565
เรื่องที่สาม คือ การจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบกรอบแผนฯดังกล่าวแล้ว โดยภายในเดือนกันยายนนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมนำแผนฯเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานแห่งชาติรอบแรกจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน แล้ว จะนำมาปรับปรุงแผนฯ และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำแผนฯ ไปจัดทำแผนย่อย ทั้ง 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan, แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP และ แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan
เมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยทั้ง 5 แผนแล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อรวบรวมและจัดทำให้เป็นภาพรวมแผนพลังงานแห่งชาติเพียงฉบับเดียว และจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมต่อไป คาดว่าจะเริ่มใช้แผนพลังงานแห่งชาติ ได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
เรื่องที่สี่ คือ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยรัฐบาลคาดหมายว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ จะออกนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนตามนโยบาย 30/30 หรือ การส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 และถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ได้
เรื่องที่ห้า คือ มาตรการส่วนลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งได้สิ้นสุดมาตรการลงในสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ก็ต้องจับตาว่า ภาครัฐจะพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือออกไปอีกหรือไม่ หลังได้เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยมาตรการนี้ ที่ผ่านมา ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก