“อินโนพาวเวอร์” จ่อดึงพันธมิตรต่างชาติตั้งโรงงานประกอบรถอีวีในไทย  

ผู้ชมทั้งหมด 1,325 

“อินโนพาวเวอร์” แย้มลุยเจรจาผู้ประกอบต่างชาติ หวังดึงลงทุนจัดตั้งโรงงานประกอบรถอีวีในไทย คาดชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีนี้ ใช้เงินลงทุนเฟสแรกประมาณ 400-500 ล้านบาท พร้อมงัดกลยุทธ์ “Decarbonization Partner” ลุยธุรกิจปี 2567 ตั้งเป้ารายได้แตะ 300 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อย CO2 เพิ่มเท่าตัว

เทรนด์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมแพร่หลายสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการสร้างฐานการลงทุนในความยั่งยืน (Invest in Sustainability) เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER Company Limited) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 3 พันธมิตรด้านพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจครบวงจรด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด โดยการให้คำปรึกษา การบริหารจัดการเพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงาน (Future of Energy) ธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต (Future of Mobility) รองรับการเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์เชื้อเพลิงสะอาด รวมทั้งการลงทุนในความยั่งยืน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การขับเคลื่อนการลงทุนด้านธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต (Future of Mobility) ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรร่วมลงทุนซึ่งเป็นผู้ประกอบการต่างาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)อยู่แล้ว ถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนจัดตั้งโรงงานประกอบรถEV ในประเทศไทย ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (หรือ EV 3.5) ของภาครัฐที่ใช้สิทธิประโยชน์จูงใจให้เกิดการลงทุน

“ตอนนี้เราเจรจาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนกับพันธมิตรในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดตั้งโรงงานประกอบรถEV เรื่องของแบตเตอรี่ ศึกษาการผลิตรถEVในหลายประเภท รวมถึงพิจารณาพื้นที่จัดตั้งโรงงานในประเทศด้วย คาดว่า จะมีความชัดเจนได้ภายในไตรมาส1 นี้ และหากตัดสินใจลงทุน จะเป็นการทยอยลงทุนเป็นเฟส โดยเฟสแรก คาดว่า จะใช้เงินประมาณ 400-500 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทในปี 2567 จะมุ่งไปที่ธีม “Decarbonization Partner” หรือ พันธมิตรพิชิตคาร์บอน ซึ่งบริษัท มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยวางเป้าหมายรุกตลาดองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเอกชน ด้วยการเป็นพันธมิตรให้คำปรึกษา วางกลยุทธ์ และบริหารจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนแบบครบวงจร นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้ม มาตรการข้อกีดกันทางการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน

โดยการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Decarbonization Partner บริษัท มีโซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย

1)Greenhouse Gas Report (GHG) หรือ แพลตฟอร์ม GHG สำหรับคำนวณและแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้าง Awareness หรือความตระหนักรู้ให้แก่บริษัทผู้ประกอบการสำรวจธุรกิจของตนเองว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจในการเข้าถึงเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งในช่วงนี้แพลตฟอร์ม GHG จะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าในจำนวนจำกัด จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมสำรวจธุรกิจของตนเองเพื่อวางแผนได้อย่างเหมาะสม

2)Renewable Energy Certificate (REC) หรือ แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัท ได้ออกใบรับรอง REC ให้กับผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 2 ล้านREC โดยในปี 2567 ได้ขยายการออกใบรับรองให้เข้าถึงองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทยโดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ ในปีนี้ บริษัท ตั้งเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 100 ราย จากปัจจุบันมีลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากกลายแล้วประมาณ 80 ราย 

3)Energy Ignition Ventures (EIV)  หรือ การลงทุนในกองทุนและสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ร่วมกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) จากประเทศสิงคโปร์ โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่ม Decarbonization Technology ที่เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมองว่า หลายๆ บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงทุนสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดกับธุรกิจของตนได้ ซึ่งในเรื่องความยั่งยืนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจพลังงานเท่านั้น ยังกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 80 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ บริษัท ยังมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปเป็นไปส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ให้ครบเพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตัวอย่างโครงการในปีนี้ ได้แก่ การบริหารจัดการ Fleet Card หรือบัตรชำระค่าอัดประจุไฟฟ้าของรถ EV สำหรับองค์กร

ปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านรายได้เป็น 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 หรือขยายตัวประมาณ 100% และวางเป้าหมายด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็น 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1 ล้านตัน โดยสัดส่วนรายได้ปี 2567 จะมาจากธุรกิจด้าน Future และ Sustainability อยู่ที่ 67% จากปี 2566 อยู่ที่ราว 60% และธุรกิจด้าน Mobility ปี2567 จะอยู่ที่ 67% จากปี2566 อยูที่ 33%

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงของการก่อตั้งธุรกิจ บริษัทฯ มีรายได้รวม 150.4 ล้านบาท เติบโต 700% จากปี 2565 โดยในแต่ละธุรกิจมีการเติบโต ดังนี้ ในส่วนของ Future of Energy (พลังงานแห่งอนาคต) ธุรกิจการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และ Sustainability (นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน) การให้คำปรึกษา การบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนในองค์กร และการจัดหาซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) เติบโตเพิ่มขึ้น 616% จากปี 2565 ในส่วนของ Future of Mobility (วิถีการเดินทางแห่งอนาคต) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโต 703% จากปี 2565 

ปัจจุบัน อินโนพาวเวอร์ มีพนักงาน ประมาณ 27 คน เพิ่มขึ้นจากระยะแรกที่มีพนักงาน 15 คน และในอนาคตจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ให้รองรับกับส่วนงานที่ขยายการเติบโตตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตด้วย