ผู้ชมทั้งหมด 821
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาของระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) จำนวน 7 เส้นทาง นั้นหากดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละเส้นทางการก่อสร้างก็มีความคืบหน้าไปมาก
สำหรับรถไฟทางคู่เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร นั้นเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญและเป็นโครงข่ายที่จะเชื่อมโยงไปยังสปป.ลาว และเชื่อมโยงกับเส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ไปสู่ภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนาดจิตร ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าหน้า 93.52% อย่างไรก็ตามในสัญญาที่ 1 นั้นยังติดปัญหาเรื่องการเวรคืนพื้นที่ดินในการก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมขอประมาณเพิ่มเติมในวงเงิน 286 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนาดจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทางประมาณ 69 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูล โดยจะต้องปรับแบบให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูง หลังจากนั้นก็ต้องเสนอรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการต่อไปคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565
ขณะที่สัญญาที่ 3 งานก้อสร้างอุโมงค์ จำนวน 3 อุโมงค์ ประกอบด้วย อุโมงค์ที่ 1 ระยะทาง 5.85 กิโลเมตร รูปแบบอุโมงค์คู่-ทางเดี่ยว อุโมงค์ที่ 2 ระยะทาง 650 กิโลเมตร รูปแบบอุโมงค์เดี่ยว-ทางคู่ อุโมงค์ที่ 3 ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร รูปแบบอุโมงค์คู่-ทางเดี่ยว ปัจจุบันอุโมงค์ที่ 2 และที่ 3 งานก่อสร้างพร้อมระบบรางเสร็จแล้ว
อย่างไรก็ตามอุโมงค์ที่ 1 นั้นเป็นอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย อยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา ผาเสด็จ และหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยภาพรวมของสัญญาที่ 3 นั้นมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้างราว 90% กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 ส่วนสัญญาที่ 4 งานระบบอาณัติสัญญาณ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว ทั้งนี้โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นั้นคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการช่วงมาบกะเบา-คลองขนาดจิตรได้ในปลายปี 2566
เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า รถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของโครงข่ายทางรถไฟ และโครงข่ายด้านคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและการขนส่งในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ และจะดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟ เพื่อการเดินและขนส่งสินค้ามากขึ้น ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ
นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางโครงข่ายคมนาคม และระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่โครงการระดับภูมิภาคและต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ และยังส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่
ลดต้นทุน ลดพลังงาน ลดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตามการพัฒนารถไฟทางคู่ทุกเส้นทางนั้นยังมีการปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟตลอดแนวเส้นทางโครงการ ให้เป็นสะพานหรือทางลอด ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางบนท้องถนน ช่วยลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจารจรหนาแน่น มีการกั้นรั้วตลอดแนวเส้นทาง เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน และมีการปรับระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ
การก่อสร้างรถไฟทางคู่ นั้นทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง ช่วยเพิ่มความจุทาง 4 เท่า ทำให้เดินรถได้มากขึ้นรถไฟไม่ต้องรอหลีก การเดินทางตรงเวลา ทางรถไฟสายใหม่เพิ่มจังหวัดที่ทางรถไฟพาดผ่าน ช่วยให้เกิดความสะดวก สบายในการเดินทาง มีการปรับปรุง และก่อสร้างย่านลานกองสินค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า การปรับปรุงสถานี ช่วยให้เกิดความสะดวก สบายด้านการเดินทางแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ด้วยการออกแบบสถานีตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design)
คืบหน้ารถไฟทางคู่สายอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ที่เหลืออีก 6 เส้นทางนั้นประกอบด้วย ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จแล้ว ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จแล้ว
ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร แบ่งงานก่อสร้างเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม ระยะทางรวมประมาณ 29 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 68.17% ส่วนที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 70.94%
ช่วงนครปฐม-หัวหิน แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร มีความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง 97% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กิโลเมตร มีความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง 92.68%
ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร ปัจจุบันงานด้านโยธาดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย มีความก้าวหน้างานก่อสร้าง 84.47% สัญญาที่ 2 บางสะพานย้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กิโลเมตร มีความก้าวหน้างานก่อสร้าง 85.36%