ผู้ชมทั้งหมด 321
“อมตะวีเอ็น” กางแผนโชว์ศักยภาพการลงทุนนิคมในเวียดนาม 4 โครงการ รวมพื้นที่กว่า 18,000 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI มากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าปี 67 เป็นแม่เหล็กนักลงทุนต่างชาติ สร้างรายได้เติบโต 15 – 20%
นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์และภาพรวมการลงทุนในปี 2567 ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่กลุ่มอมตะฯได้เข้าไปลงทุนที่เวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก ซึ่งสะท้อนได้จากความสำเร็จของอมตะในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และโครงการนิคมฯ ร่วมทุนกับพันธมิตรนานาชาติอีก1 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว 2.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลองถั่น 3.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง และ 4.นิคมอุตสาหกรรมกว่างจิ (Joint Venture) คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นกว่า 860 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ดินที่ได้รับใบอนุญาติ 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าทั้งหมดกว่า 200 บริษัทคิดเป็นมูลค่าลงทุน มากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 60,000 คน
สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว ซึ่งเป็นนิคมแรกตั้งอยู่ที่เมืองเบียนหัว จ.ดองไน เป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Park) ถือเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ของทั้งประเทศเวียดนาม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลองถั่น พัฒนาเป็นนิคมฯไฮเทคในพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนในภาคใต้ ซึ่งห่างจากสนามบินใหม่เพียง 10 นาที สำหรับภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.กว่างหนิง อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Zone) ที่กำลังได้รับความสนใจสูงสุดจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีหลายด้านจากเวียดนาม
พร้อมกันนี้อมตะยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกบริษัท Marubeni Corporation ในการเข้าถือหุ้น สัดส่วน 20% เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาดและการเงิน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมกวางจิ (JV)ในภาคกลางเป็นนิคมร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 2 ราย ประกอบด้วย Singapore Industrial Park J.V Co., Ltd (VSIP) และ Sumitomo Corporation ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ ปัจจุบันมีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ดังนั้นในปี 2567 บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) มียอดขายที่รอโอน (Backlog) ประมาณ 60 เฮกเตอร์ และได้วางเป้าหมายรายได้เติบโต 15 – 20%