ส่องไฮไลท์ “พลังงงาน” ต้องลุ้นต่อปี 2566

ผู้ชมทั้งหมด 1,610 

ก้าวสู่ปีพุทธศักราชใหม่ 2566 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆคน ก็ความหวังว่าจะเป็นปีที่ดีเอื้อต่อการดำเนินชีวิต ประสบความสุข ความสำเร็จ ทั้งหน้าที่การงาน การค้า และการลงทุน หลังจากในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกต้องเผชิญกับ “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19” และในปี2565 ยังถูกซ้ำเติมจาก “วิกฤตราคาพลังงาน” ทั้งราคาน้ำมัน และราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ กระทบต่อค่าครองชีพ

ปี2566 นี้ แม้ทิศทางการราคาพลังงาน จะอ่อนตัวลงบ้างก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ โดยเฉพาะคนในแวดวงพลังงาน ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หลังภาครัฐ ตื่นตัวเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด โดยมีการกำหนดเป้าหมายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

“สำนักข่าว TenNews” ได้รวบรวมทิศทางการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี2566 มาให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม ได้เกาะติดไฮไลท์เรื่องพลังงานที่สำคัญ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการลงทุนให้สอดรับกับทิศทางนโยบายภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประเดิมเรื่องแรก “อัตราค่าไฟฟ้า” ชัดเจนแล้วว่า ค่าไฟฟ้างวดแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ยังคงต้องจ่ายค่า Ft ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงจ่ายค่าไฟฟ้า อยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ในงวดถัดไป (พ.ค.-ส.ค.2566) ยังต้องลุ้นว่า ราคาก๊าซฯ จะมีทิศทางอย่างไร รวมถึงยังมีภาระหนี้ที่ต้องใช้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ค้างอยู่ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทที่จะทยอยชำระคืนในอนาคตด้วย ดังนั้น ต้องรอติดตามว่า ภาครัฐจะมีนโยบายหรือจัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับภาคประชาชนอย่างไรต่อ เพราะที่แน่ๆ อัตราค่าไฟฟ้าในปี 2566 ยังอยู่ในระดับสูง แม้หากจะตรึงราคาไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ก็ยังเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

เรื่องที่สอง “แผนพลังงานแห่งชาติ” ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เตรียมร่างแผนฯ ต่อ กพช. และครม.เห็นชอบ ภายในไตรมาส 1/66 เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนพลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% และลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าลง

เรื่องที่สาม “รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์” โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 22 มี.ค.2566 และเริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 หลังมีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวมมากถึง 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่กำหนดไว้กว่า 3 เท่า ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าในรอบนี้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่อไป รวมถึง ยังต้องรอลุ้นเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชนเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ยังต้องลุ้นลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หลังเลื่อนลงนามถึง 6 ครั้ง ล่าสุด กำหนดไม่เกิน 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากที่มีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย)

เรื่องที่สี่ “ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)” ทางสนพ. เตรียมเสนอบอร์ดEV ช่วง ม.ค.-ก.พ.2566 อนุมัติมาตรการใช้เงินอุดหนุนการผลิตและการใช้แบตเตอรี่สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศ (Demand-linked) ภายในปี 2568 พร้อมหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาขยายการกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority ไปจนถึงปี 2568

ขณะที่ กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมกำหนดรูปแบบการส่งเสริมการติดตั้งและกำกับดูแลสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบริเวณพื้นที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในปี พ.ศ. 2573 จำนวน 12,000 หัวจ่าย

เรื่องที่ห้า “เปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่” ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลงแปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่า จะสามารถประกาศผลผู้ได้รับสิทธิได้ในไตรมา1/66  และจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท หากสำรวจพบปิโตรเลียม

รวมถึง การแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน ไทยกัมพูชา (OCA) ก็อยู่ในแผนงานที่จะหาทางออกไปร่วมกัน อีกทั้ง กรมเชื้อเพลิงฯ จะทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่หก “นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)” เรื่องนี้ ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่า จะจัดสรรโควตาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) นำเข้าLNG ในปี 2566 จำนวนเท่าไหร่ และ จะมี Shipper รายใด นำเข้าLNG เพื่อมาผลิตไฟฟ้าใช้เองบ้าง แต่ที่แน่ๆ ปตท.ยังคงได้รับสิทธินำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาวที่ 5.2 ล้านตันต่อปี แต่การนำเข้าลักษณะ Spot LNG ยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐต่อไป

เรื่องที่เจ็ด “ลงทุน Grid Modernization ทาง สนพ. โดยคณะกรรมการจัดทำแผนฯ อยู่ระหว่าง จัดทำ(ร่าง) แผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization  จัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้า เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน เบื้องต้นจะมีการลงทุนราว 34 โครงการ มูลค่ารวม 272,090 ล้านบาท ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเดินหน้าโครงการต่อไป นับว่าโครงการนี้ จะช่วยยกประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น