ส่องแผนงาน สนข. เร่งผลักดัน 14 โครงการยกระดับการขนส่งคมนาคม   

ผู้ชมทั้งหมด 549 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรียกได้เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระ เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องดำเนินการศึกษาวางแผนพัฒนาด้านระบบขนส่งและจราจร โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา และเตรียมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 14 โครงการ แต่ในจำนวนนี้มี 6 โครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้การดำเนินวางแผนพัฒนาด้านระบบขนส่งและจราจรของสนข. ทุกโครงการนั้นได้ผลักดันไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อที่ประชุมครม. มีจำนวน 6 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) ซึ่งเป็นโครงการที่สนข.ดำเนินการเอง เพื่อให้ ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ซึ่งในปัจจุบันได้บรรจุเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว สำนักเลขานายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากครม.ในเดือนตุลาคม 2567 และคาดว่าจะสามารถเริ่มประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอเสนอครม.ก็จะดำเนินการจัดทำกฎหมายลูก 17 ฉบับของพ.ร.บ.ตั๋วร่วมควบคู่กันไปด้วยเร่งดำเนินการให้ทันกับการประกาศใช้พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คาดว่าจะใช้งบประมาณ 35 ล้านบาทในการจ้างที่ปรึกษาดูเรื่องกฎหมายลูก โดยกฎหมายลูกนั้นมุ่งเน้นการจัดมาตรฐานของบัตรโดยสารที่ครอบคลุมการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ระบบราง การโดยสารทางเรือ ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะ ,อัตราค่าโดยสารร่วม,เทคโนโลยีการอ่านบัตรโดยสาร,การแก้ปัญหาระบบรถไฟฟ้าข้ามสาย,การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วมเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนที่เข้าร่วมระบบดังกล่าว

2.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC เป็นโครงการที่สนข.ดำเนินการเอง เพื่อใช้ในการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มีการบูรณาการระหว่าง  หน่วยงาน มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และระนอง เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

การดำเนินการร่าง พ.ร.บ. SEC ปัจจุบันได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในการมอบอำนาจให้สนข.เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC ซึ่งหากสนข.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทำร่างพ.ร.บ. SEC ในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ประชาชนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม. ได้ในเดือนตุลาคม 2567 และคาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเดือนเมษายน 2568 อย่างไรก็ตามสำหรับพ.ร.บ. SEC นั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาลในพื้นที่ 4 จังหวัดได้เป็นอย่างดี   

3.แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) กรอบวงเงินลงทุนระหว่างปี 2567- 2575 จำนวน 8,871.40 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ยกระดับการบูรณาการเดินทางกับรูปแบบอื่น เพิ่มการใช้ประโยชน์เพื่อการสัญจรและการท่องเที่ยว 4.แผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง กรอบวงเงินลงทุนปี 2568 – 2580 จำนวน 4,372.09 ล้านบาท เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Feeder) พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ – ราง – เรือ พร้อมปรับปรุงลักษณะกายภาพ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวก

5.แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (พ.ศ. 2566 – 2580) กรอบวงเงินลงทุน 19,427.22 ล้านบาท โดยเร่งผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย EV ภาคคมนาคม พัฒนาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และลดมลพิษ 6.แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยอาศัยแนวคิด Transit Oriented Development หรือ TOD กรอบวงเงิน 17,326 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ 177 สถานี ทั่วประเทศ

ลุยศึกษา 8 โครงการเร่งด่วน

สำหรับงานที่อยู่ระหว่างการศึกษามีจำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย 1) การศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปี 2568

2) การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – จังหวัดสตูล (Andaman Riviera) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 3) การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้มีฐานข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและข้อมูลการจราจรในเขตเมืองหลักในภูมิภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 4) การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ EEC เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนไปสู่ทางรางและทางน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

5) การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ 6) การศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านคมนาคมแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนด้านคมนาคม รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายของผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม

7) การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและขนส่ง ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 8) โครงการ Landbridge ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร – ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม. ในปีนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี  2568 และจะ ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573