ส่องต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดล ชุมชนเกษตรผักไหม สร้างรายได้ 3.6 แสนบาทต่อคนต่อปี

ผู้ชมทั้งหมด 218 

วิสาหกิจชุมชนตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดลที่เริ่มจากจุดเล็กๆ เพียงไม่กี่คนแล้วค่อนๆขยายเป็นโมเดลขยายใหญ่มีจำนวน 9 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 17 หมู่บ้านในตำบลผักไหมที่ทำการเกษตรปลอดสารพิษ ขณะเดียวกันยังเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายชุมชนในไทย ร่วมทั้งต่างประเทศได้มาเรียนรู้นำแนวทางไปพัฒนาต่อยอด 

นายไพฑูรย์ ฝางคำ ตัวแทนวิสาหกิจกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม ผู้ริเริ่มปลูกข้าวอินทรีย์ จนต่อยอดไปเป็นต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดล ระบุว่า การปลูกข้าวอินทรีย์นั้นเริ่มต้นจากต้องการลดต้นทุนในการปลูกข้าว เพิ่มรายได้ให้กับตนเอง โดยไม่พึ่งพาสารเคมี หลังจากได้ผลที่ดีก็ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนำไปพัฒนาต่อยอด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวิสาหกิจกลุ่มแปรรูปข้าวอินทรีย์ สู่การพัฒนาเป็นฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เป็นการทำฟาร์ม หรือทำแปลงเรียนรู้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของน้ำแล้ง เป็นการเอาภูมิปัญญาบวกกับนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งในปี 2561 กระทรวงพลังงานได้เข้ามาแนะนำให้ความรู้ เอามาปรับประยุกต์ใช้และขยายผลต่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่ 5 ไร่แบ่งเป็น โซนนาข้าวและพืชหมุนเวียน โซนพืชผักอายุสั้น โซนสระน้ำเพื่อการเกษตร โซนพืชผสมผสานที่เน้นการปลูกพืชหลากหลาย โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรเป็น โดยได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์สูบน้ำ เพื่อลดต้นทุนของค่าไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบสูบน้ำ เพื่อใช้ในการดึงน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดิน มากักเก็บในถังพักน้ำขนาด 50,000 ลบ.ม. เพื่อบริหารจัดการในฟาร์มสำหรับใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศในฟาร์ม มุ่งสู่การเป็นพลังงานสะอาด 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนตำบลผักไหมได้ปลูกพืชหมุนเวียนหลายชนิด ซึ่งนอกจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์แล้วยังได้ปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และกระเจี๊ยบปลอดสารพิษ และมีสมาชิกกว่า 300 คน ขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์กว่า 1,800 ไร่ โดยพืชผลที่ได้มีบริษัทจากประเทศเยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ มารับซื้อ เช่น ถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นซีอิ้วขาว โดยรับซื้อกิโลกรัมละ 53 บาท เป็นราคาที่สูงกว่าราคาถั่วเหลืองทั่วไป และในอนาคตก็เตรียมส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดยุโรปอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังได้ผลผลิตที่ได้จากการปลูกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของชุชน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน ซึ่งปัจจุบันทำรายได้เฉลี่ยได้ถึง 360,000 บาทต่อคนต่อปี (เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก) 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์สูบน้ำครอบคลุมพื้นที่ของการเพาะปลูกกว่า 1,800 ไร่ในจำนวน 9 หมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชนฯ จึงได้ยื่นเรื่องขอการสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งโซลาร์เซลล์สูบน้ำอีก 20 จุด จากปัจจุบันมีการติดตั้งอยู่ 7 จุด เพื่อใช้ในการดึงน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินมากักเก็บใช้ในหน้าแล้งได้มีน้ำใช้ทั่วถึงในพื้นที่ทั้งหมด  

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความเสียหายทางผลผลิต ทำให้คนในชุมชนคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นา ที่สวน ให้มีรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพ จึงได้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพให้คนในชุมชนมีความมั่นคง และยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม ขายเมล็ดพันธุ์ข้าว และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ พร้อมกับพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่ทำข้าวอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็ได้นำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาปรับใช้ในพื้นที่ จนล่าสุดได้พัฒนาเป็นผักไหมฟาร์ม กลุ่มต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดลของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ

“พื้นที่แปลงเกษตรในตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้ การบริหารจัดการน้ำด้วยการนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วปล่อยกระจายด้วยระบบท่อ ไปใช้ในฟาร์มและแปลงเกษตรกร ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรในช่วงน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น พืชผลอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดปี และยังช่วยเกษตรกรลดภาระค่าน้ำมันที่ใช้สำหรับสูบน้ำจากระบบเดิมได้อีกด้วย” นางจันทรา กล่าว

นายยงยุทธ ห่อทอง พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนทั้งในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ที่สายส่งยังเข้าไม่ถึง เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลงเกษตรที่ตำบลผักไหมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนได้นำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในชุมชน สร้างรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) แบบตั้งพื้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ปี 2561-2565 จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยติดตั้งระบบสูบน้ำฯ ขนาด2,500 วัตต์ ให้กับ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 7 จุด วงเงิน 3,029,000 บาท เพื่อสูบน้ำจากบ่อบาดาล มาเก็บในแทงค์ ขนาด 25,000 ลิตร หรือ 50,000 ลบ.ม และนำมาใช้ในแปลงเกษตรของชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 71 ครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้เกือบ 1 แสนบาท ต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8,155.22 kgCo2 / ปี อีกด้วย