ส่องความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “สุรพงษ์” ลั่นปี 71 ต้องได้นั่ง

ผู้ชมทั้งหมด 1,325 

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (รถไฟความเร็วสูงไทย – จีน) เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาระยะแรก กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 โดยระยะแรกแบ่งเป็น 14 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท

ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 มีนาคม 2567 ภาพรวมงานก่อสร้างมีความคืบหน้า 32.3% แบ่งเป็น สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก งานก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก งานก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า มีความคืบหน้า 0.160% สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ มวกเหล็กและลำตะคอง มีความคืบหน้า 59.7% สัญญา 3.3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง มีความคืบหน้า 49%

สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด มีความคืบหน้า 74.6% สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มีความคืบหน้า 6.7% สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร มีความคืบหน้า 0.3% สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ มีความคืบหน้า 30% สัญญา 4-4 ศูนย์ซ้อมบำรุงเชียงรากน้อย มีความคืบหน้า 8.5% สัญญา 4-6 ช่วงบ้านโพ-สระบุรี มีความคืบหน้า 1.5% สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย มีความคืบหน้า 52.6% สัญญา 2-3 งานออกแบบ จัดหาติดตั้งระบบราง มีความคืบหน้า 0.9%

ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว นั้นยังไม่ได้ลงนามสัญญา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 12 สัญญา เหลืออีก 2 สัญญาที่ต้องเร่งลงนามให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายพร้อมเปิดบริการภายในปี 2571

สำหรับสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตรที่ติดปัญหาเรื่องโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ได้รับบัตรส่งเสริมการของทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน โดยมีการขยายไปถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 หากครบกำหนดตามระยะเวลาที่ได้รับการขยายออกไปแล้วยังไม่ได้บัตรส่งเสริมการลงทุน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคมต้องไปดำเนินการเจรจากับ “เอเชีย เอรา วัน” หากไม่ประสงค์จะทำโครงการต่อ รฟท.จะต้องนำโครงสร้างร่วมนี้มาดำเนินการเอง

ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามกรอบวงเงินเดิมมีวงเงิน 3,337 ล้านบาท กรณีทำโครงสร้างร่วมวงเงินรวมจะอยู่ที่ประมาณ 9,207 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมมั่นใจว่ามีวิธีพิจารณาจัดหางบมาดำเนินการได้ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามในกรณีโครงสร้างร่วมนั้นตนมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปภานในเดือนพฤษภาคม 2567

ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ปัจจุบันดำเนินการศึกษารายงานประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกหรือ HIA ของสถานีอยุธยา ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เตรียมจัดส่งรายงาน HIA ให้กับทางยูเนสโกภ่ายในเดือนเมษายนนี้ และหลังจาก สผ.จัดส่งรายงาน HIA ไปที่ยูเนสโกแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะสามารถลงนามจ้างสัญญา 4-5 ได้

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่า สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 มีกรอบวงเงิน 10,325 ล้านบาท ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว