ผู้ชมทั้งหมด 506
“สุริยะ” เร่ง 4 เมกะโปรเจกต์ในพื้นที่อีอีซี ปักธงก่อสร้างรถไฟไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบินปี 67 พร้อมตั้งคณะทำงานร่วม 3 หน่วยงาน “สกพอ.-บีโอไอ-กนอ.” ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน หวังดึงต่างชาติลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เร่งรัดมาตรการการดำเนินต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
โดยได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ลดความสับสนของผู้ลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกพอ., บีโอไอ และ กนอ. จัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ของประเทศไทย โดยล่าสุดได้มีการเจรจาหารือร่วมกันแล้ว ถึงแนวทางสำหรับเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุน หรือผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุน รวมทั้งประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าเจรจาผู้ที่สนใจเข้าลงทุน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อหวังเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ขณะเดียวกัน จากที่มีนักลงทุนต่างประเทศที่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี จึงได้พิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยในที่ประชุมได้พิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทั้งนี้ จะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ร่วมเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการจัดทำผังเมืองใหม่ระดับอำเภอให้มีความสอดคล้องกับแผนผังอีอีซี โดยเฉพาะด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งเชิญสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้าร่วมเสนอแนะปรับปรุงขั้นตอนการจัดทำรายงาน EIA นิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้วย
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแผนการขับเคลื่อนรวมถึงเร่งรัดการส่งมอบโครงการ โดยได้เร่งรัดการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก (EEC Project Lists) ให้เสร็จตามแผนงานที่กำหนด ได้แก่ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ประชุมเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไท-บางซื่อ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.67 ขณะที่พื้นที่อื่นมีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Transit Oriented Development, TOD) แล้ว อยู่ระหว่างเอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามเงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่ง รฟท.จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.67
2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมเร่งรัดให้กองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ ภายในเดือนธ.ค.66 พร้อมทั้งเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ประชุมมีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัดและกำกับการก่อสร้างงานถมทะเลให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายในเดือนพ.ย.68 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน คาดว่าการก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือในส่วนท่าเรือ F1 จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ปลายปี 70
4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ประชุมมีมติให้ กนอ. ติดตามการถมทะเลของเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.67 (ปัจจุบันมีความก้าวหน้าประมาณ 69.64%) คาดว่าการก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 70