“สุริยะ” เร่งเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกปลายปี 70 BEM พร้อมสั่งซื้อรถ 32 ขบวนในปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 208 

“สุริยะ” เร่งเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกปลายปี 70 พร้อมเร่งเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง 35.9 กม.ในปี 73 คาดผู้โดยสารใช้บริการ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน ด้าน BEM ลั่นสั่งซื้อรถไฟฟ้า 32 ขบวนในปีนี้งบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท คาดสายสีส้มหลังเปิดปี 71 หนุนรายได้โต 20%      

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ว่า ตนจึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ส่วนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้นตนได้ให้ รฟม. และBEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ในปลายปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป

สำหรับการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นั้นคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 30,000 คน เกิดการลงทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างกว่า 80,000 ล้านบาท ช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 0.1%  

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และตนยืนยันว่าจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้นจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานครมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบการเดินทางที่เชื่อมโยงครอบคลุมและสะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว โดยที่ผ่านมารฟม.ได้ดำเนินงานคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จนแล้วเสร็จ และคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ ดังกล่าว โดยมี BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยหลังจากนี้รฟม.จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง ทั้งนี้ในเบื้องต้น รฟม.มีแผนที่จะเร่งรัดเปิดให้บริการ ทั้งส่วนตะวันออกฯ ได้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2571 และส่วนตะวันตกฯ ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2573

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEM มีความพร้อมในการดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาทันที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก นั้น คาดว่าจะสามารถเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดขบวนรถมาให้บริการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ โดยจะเร่งดำเนินการสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 32 ขบวนภายในปีนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะอยู่ในขั้นตอนเจรจากับผู้ปประกอบการผลิตรถไฟฟ้าหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามภายหลังจากเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกในปี 2571 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 – 7 ปีถึงจะถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) และจะช่วยสนับสนุนผู้โดยสารเข้ามาในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT เพิ่มเป็นกว่า 600,000 เที่ยวคนต่อวัน จากปัจจุบันผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 500,000 เที่ยวคนต่อวัน ช่วยสนับสนุนให้รายได้รวมของบริษัทฯ เติบโต 20%

ส่วนการดำเนินการก่อสร้างช่วงตะวันตก BEM มีจุดแข็งคือพันธมิตรอย่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานโยธาและการจัดหาระบบไฟฟ้า มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างจะไม่มีปัญหาอุปสรรค และจะเปิดให้บริการได้ภายใน 6 ปี

อนึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร โดยส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)