ผู้ชมทั้งหมด 293
“สุริยะ” เร่งเดินหน้าโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ 3 สายทาง วงเงินรวมกว่า 9.19 หมื่นล้าน ชง ครม. ไฟเขียวไม่เกินสิ้นปีนี้ก่อนเริ่มก่อสร้างปีหน้า และให้ของบฯ ปี 67 เพิ่ม 4 หมื่นล้าน ขยายโครงข่ายคมนาคมภูเก็ต พร้อมย้ำยุคนี้ต้องไม่มีส่วยทางหลวงเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่กรมทางหลวง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายในการดำเนินงานก่กรมทางหลวง (ทล.) ว่า ตนได้มอบนโยบายให้ ทล.ไปพัฒนาโครงข่ายทางถนนโดยเฉพาะถนนสายหลักที่เชื่อมภูมิภาคถึงภูมิภาค เชื่อมจังหวัดถึงจังหวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงเพิ่มคุณภาพด้านความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางบกด้วยการกำกับการใช้งานและลดอุบัติเหต และบูรณาการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของคนและสินค้าจากถนนสู่ท่าเรือ หรือจากถนนสู่ท่าอากาศยาน เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้ในโครงการก่อสร้างต้องคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและประชาชนในพื้นที่ ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและระหว่างเปิดให้ใช้งาน ซึ่งต้องเน้นมาตรฐานทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง และในขั้นเปิดให้ใช้งาน โดยต้องกำกับควบคุมให้ได้ตามมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะเห็นว่าระบบคมนาคมขนส่งทางบกยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการจราจรติดขัด ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหามลพิษ PM 2.5 จึงจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายถนนทางเลือกเพื่อการขนส่ง โดยเฉพาะในรูปแบบมอเตอร์เวย์ที่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีจุดตัดทางแยก มีมาตรฐานสูงในทุกมิติ ตามกรอบ MR-MAP ที่ ทล. ได้ศึกษาไว้ เพื่อจะใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อขนส่งสินค้าระหว่างกันจากภูมิภาคถึงภูมิภาค จังหวัดถึงจังหวัด รวมไปถึงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านจากชายแดนถึงชายแดน ทั้งจากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก เข้าหากันในทุกทิศทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในระบบการขนส่งสินค้า ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมจากภายในประเทศขนส่งข้ามชายแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจากในประเทศสู่ท่าเรือเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอื่นของโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณและการบริหารสัญญาของโครงการต่าง ๆ ทล.จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมทุกขั้นตอนก่อนลงนามสัญญาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค การสำรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างให้ตรงกับแบบที่ออกไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนในขั้นปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการในงบประมาณปี 67 ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง
นายสุริยะ กล่าวว่า ที่สำคัญให้ ทล.ไปจัดทำแผนลำดับความสำคัญโครงการเร่งด่วนที่มีสัญญาอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้างและต้องกำชับ ติดตาม และเร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนโดยเร็ว ได้แก่โครงการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา,โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายM81 สายบางใหญ่- กาญจนบุรี, โครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์สาย M82 สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้ว, โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ตนยังได้มอบหมายให้ ทล. เดินหน้าแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เช่นโครงการขยาย 4 ช่องจราจรบนทางหลวงเลี่ยงเมืองหมายเลข 4027 พร้อมทั้งการปรับปรุงแนวใหม่บริเวณทางแยกเข้าสนามบิน โครงการปรับปรุงทางลอด บริเวณแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จะต้องเร่งรัดให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จในปี 67
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระยะกลาง ระยะยาว ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เช่น โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จในปี 67 และให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยาย Tollway หรือมอเตอร์เวย์สาย M5 สายรังสิต – บางปะอิน ที่จะเชื่อมไปถึง Junction บางปะอิน ,การปรับปรุงศักยภาพบริเวณ Junction บางปะอิน ซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์สายสำคัญหลายสาย ทั้งถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย มอเตอร์เวย์ M5, M6 และ M9 ซึ่งหากออกแบบไม่ดีจะสร้างปัญหาการจราจรติดขัดในอนาคต
โครงการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกสาย M9 ฝั่งตะวันตก ,โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน MR10 ในอนาคต ,โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม – ชะอำ,โครงการ Pilot Project ตามผลการศึกษา MR-MAP เช่น MR2 ช่วงแหลมฉบัง – โคราช และโครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ทั้งนี้ ขอให้ทล.ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงินภายในระบบมอเตอร์เวย์แบบในอดีตต้องหมดไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบ Free Flow ไม่มีไม้กั้นแบบ M-Flow เป็นหลัก เพื่อให้การจราจรลื่นไหล ไม่เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นคอขวดที่หน้าด่านเก็บเงิน
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้เน้นย้ำให้ทล.ป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินและส่วยสติกเกอร์ ซึ่งสำคัญมากในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม จะต้องไม่มีปัญหาส่วยสติกเกอร์เกิดขึ้น และตนจะลงพื้นที่ไปสุ่มตรวจการดำเนินการ ณ ด่านชั่งน้ำหนัก หากพบว่า มีการทุจริตเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม จะให้ไฟเขียวตำรวจดำเนินการสืบสวน สอบสวน และได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ไม่ให้หลุดรอดไปได้
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการของทล.ที่มีความพร้อมเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติอย่างเร่งด่วนมี 3 โครงการ ระยะทางรวม 59.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 91,901 ล้านบาท ได้แก่1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (M7) ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท
ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 66 ทล.ได้รับจัดสรรงบฯจำนวน 118,994.93 ล้านบาท และสามารถเบิกจ่ายได้ 96.12% หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบฯ67 ทล.ได้ยื่นคำของบประมาณจำนวน 338,418.3181 ล้านบาท มากกว่าในปีงบฯ66 ประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงการเร่งด่วนด้านโครงข่ายถนนและความปลอดภัยในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตามนโยบายของนายเศรฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เช่นโครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท และ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท
สำหรับการเตรียมความพร้อมโครงการที่จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม. 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แล้ว โดยรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) ระยะเวลา 34 ปี ดำเนินงานโยธา 4 ปี และ O&M 30 ปี
โครงการมอเตอร์เวย์ M5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ PPP แล้ว โครงการใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดยเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลา 34 ปีดำเนินงานโยธา งานระบบ 4 ปี และ O&M 30 ปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการ จะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้าก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในสิ้นปี 66 เมื่อได้เห็นชอบแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal : RFP) และรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน พร้อมประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 67 (ก.ค.-ก.ย. 2566) และริ่มก่อสร้างภายในปี 7 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งระบบ 4 ปี น่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 71
ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 4,400 ล้านบาท และค่าเวนคืน 108 ล้านบาท ขณะนี้ได้เจรจาแหล่งเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เรียบร้อยแล้ว สัดส่วนเงินกู้ 80% หรือ 3,520 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 20% หรือ 880 ล้านบาท โดยเรื่องเงินกู้ได้บรรจุในแผนเงินกู้แล้ว และทล.จะจัดสรรงบฯปี67 จำนวน 880 ล้านบาท คาดจะประกาศใช้ประมาณเดือน เม.ย. 67 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ADB ซึ่งจะคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ ผลงาน เงินทุนจดทะเบียน และดำเนินการเป็นไปตามระเบียบสิ่งแวดล้อม คาดว่าเดือน ส.ค.-ก.ย. 67 จะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2.5 ปี น่าแล้วเสร็จปี 69 ขณะที่ โครงการ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาทนั้น ทล.มีแผนที่จะดำเนินการในระยะต่อไป