“สุริยะ” หารือคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภาพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้ชมทั้งหมด 874 

สุริยะ” ประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง บก น้ำ ราง อากาศ  ร่วมกับคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับและประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา โดยมี พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะ พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 28 กันยายน 2566 ณ กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา และคณะได้เดินทางมาร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมร่วมกันในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการคมนาคมทางบก ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระบบ M-Flow หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Landbridge)

การพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง การนำระบบการบริหารจัดการจราจรโดยใช้ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจร ด้านการคมนาคมทางราง ได้มีการหารือแนวทางในการพัฒนาและเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเพื่อก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – บางขุนนนท์ และการจัดหาระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย และช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาท ตลอดสาย การเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ด้านการคมนาคมทางน้ำ ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือภายใต้แผนโครงการประกันความลึกร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 16 ร่องน้ำ แนวทางการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนากองเรือพาณิชย์นาวีไทย การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรี สำหรับด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้มีการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ การกำกับดูแลเศรษฐกิจการบิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบท่าอากาศยาน เร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานหลักของประเทศและท่าอากาศยานที่สำคัญ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางอากาศ

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมจะนำข้อหารือในครั้งนี้ ไปใช้ประกอบการพิจารณาในการขับเคลื่อนภารกิจการดำเนินงานของกระทรวงฯ ตามกรอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อสนองตอบต่อความคาดหวังและความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งด้านการเดินทาง การใช้บริการที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้เกิดความสุขจากการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุน ลดอัตราค่าบริการในการเดินทางและขนส่ง ลดปัญหาอุปสรรคและสร้างโอกาสในการเดินทางของคนทุกกลุ่มอย่าง “ทั่วถึงและเท่าเทียม” รวมทั้งส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่ง