สุริยะ สั่งกทพ.-สนข.เจรจา BEM ยุบด่านเก็บเงิน ลดค่าผ่านทาง แก้จราจรติดขัด

ผู้ชมทั้งหมด 329 

ประชาชนเตรียมเฮ “สุริยะ” สั่งกทพ.-สนข.เจรจา BEM ปรับระบบทางด่วน ยุบด่านเหลือน้อยลง ช่วยลดค่าผ่านทาง แก้จราจรติดขัด พร้อมเร่งดันกฎหมายการขนส่งทางรางเข้าครม. ภายในปีนี้ เริ่มบังคับใช้ปี 68 เพิ่มอำนาจควบคุมระบบรถไฟฟ้า หากทำผิดลงโทษขั้นเด็ดขาดได้ทันที

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมว่า กระทรวงคมนาคมมีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันเร่งด่วน

การประชุมตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการและนำกลับมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนก็ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ( กทพ.) และสำนักงานขนส่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ

รวมถึงให้กทพ.ไปหารือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วนในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่สามารถลดด่านเก็บค่าผ่านทางให้เหลือน้อยลงให้มีความเหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เนื่องจากเวลานี้การขึ้นทางด่วนต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายต่อ และมีค่าผ่านทางสูงสุดถึง 165 บาท ต่อ 1 ครั้ง การเดินทางทำให้เป็นภาระของประชาชน รวมถึงให้กทพ.ไปหารือแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางที่แลกกับการชดเชยด้วยการขยายสัญญาออกไปจากเดิม ทั้งนี้การลดด่านเก็บค่าผ่านทางให้เหลือน้อยลงยังช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น และสามารถแก้ไขการเจราจรติดขัด เรื่องนี้ก็อยากให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

สำหรับทางด่วนที่ กทพ.ดูแลในปัจจุบันมี 7 สาย รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 2.ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) 3. ทางด่วนบูรพาวิถี 4.ทางด่วนฉลองรัช 5.ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) 6. ทางด่วนกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)  และ 7. ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยทั้ง 7 เส้นทางมีปริมาณจราจรเฉลี่ยประมาณ 1.8 ล้านคันต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวว่า ส่วนปัญหาโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 นั้นมีนโยบายให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 โดยมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) กำหนดตัวบุคคลเพื่อรับผิดชอบดูแลแต่ละสัญญา และนำแผนฯ มาทำ recovery plan เพื่อให้โครงการฯ แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้รับผิดชอบแต่ละสัญญา ต้องรายงานให้อธิบดีรับทราบ และรายงานมายังกระทรวงเป็นรายเดือน

ส่วนปัญหาการก่อสร้างล่าช้าส่วนหนึ่งมาจากผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ทล.ประสานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ความร่วมมือช่วยเหลือปล่อยเงินกู้ให้ผู้รับเหมา ขณะที่ค่า K หรือ สัญญาแบบปรับราคาได้ที่เกิดขึ้นเป็นเงินจำนวน 1,592 ล้านบาทนั้นให้ทล.ประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อของบฯมาให้ค่า K กับโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้รับเหมาได้รับผลกระทบในการดำเนินงานจากการจำกัดเวลาการก่อสร้างได้เฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น จากที่เคยก่อสร้างได้ 24 ชั่วโมง

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งได้เร่งรัดให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำร่าง พ.ร.บ.ฯ ส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการก่อนนำเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามลำดับคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2568 ขณะที่ (ร่าง) พ.ร.บ. ตั๋วร่วม พ.ศ. …. ขณะนี้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมเห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) พิจารณา จากนั้นจะนำเรื่องเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติ คาดว่ามีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2568 เช่นกัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า เมื่อพ.ร.บ. การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้จะทำให้มีกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งมีบทกำหนดโทษผู้ที่กระทำการใด ๆ ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุระบบรางจะมีบทลงโทษและบทบัญญัติที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งสามารถควบคุมการดำเนินงานของระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดได้ โดยเฉพาะกรณีรถไฟฟ้าที่มีอุบัติเหตุบ่อยก็จะสามารถลงโทษขั้นเด็ดขาดได้ทันที

ส่วนกรณีที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง จนต้องปิดให้บริการทุกสถานีนั้น จากการตรวจสอบสัญญาพบว่าจะต้องมีการประเมินผลประกอบการของผู้รับสัมปทานทุกปี โดยปี 2567 จะครบรอบการประเมินในเดือน ก.ค. นี้ แต่ขณะนี้พบว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งผู้รับสัมปทานต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่หากหลังเดือน ก..ค.ยังแก้ไขไม่ได้ ตามสัญญาแล้วกระทรวงคมนาคมสามารถปรับเป็นเงินได้ 5 % จากจำนวนเงินอุดหนุนที่รัฐต้องจ่ายคืนผู้ประกอบการค่างานโยธาปีละ 2,500 ล้านบาท หรือเป็นเงิน 125 ล้านบาท แต่ทั้งนี้หากผู้รับสัมปทานแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้วรัฐก็จ่ายคืนกลับให้ผู้รับสัมปทานต่อไป