ผู้ชมทั้งหมด 194
“สุริยะ” ยืนยันรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ครบทุกสี ก.ย. 68 เร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คุมค่าโดยสารช่วยลดภาระค่าเดินทางให้ประชาชน หนุนตั้งกองทุนฯชดเชยรายได้ที่หายไปให้ผู้ประกอบการ รุกทำ Feeder รองรับผู้โดยสารผู้ใช้บริการได้สะดวกขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามมี่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยนำร่องใช้กับรถไฟฟ้าชานเมืองชายสีแดง เส้นทาง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต และ รถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-เตาปูน ตั้งแต่เดือนก.ย.66 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับประชาชนนั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าราคาไม่เกิน 20บาทตลอดสายให้ครบทุกสาย ภายใน 2 ปีนี้ หรือประมาณเดือน ก.ย.68 เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าระยะไกลสูงถึง 192 บาท ถือเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่เดินทางผ่านระบบราง
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและเตรียมก่อสร้าง เมื่อโครงการแล้วเสร็จ และตนยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ยืนยันว่าจะผลักดันให้เข้าร่วมนโยบายทั้งหมด เพราะนอกจากนโยบายดังกล่าวจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดปัญหา PM 2.5 รวมถึงยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนได้อีก
อย่างไรก็ตามนโยบายรถไฟฟ้าไม่เกิน20 บาทตลอดสายจะประสบความสำเร็จได้เกิดการปฎิบัติจริง โดยมีปัจจัยจาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ…. ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ โดยมีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาถึงหลักการด้านต่างๆ ที่มีความเหมาะสมและเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 68 จะเห็นความชัดเจน ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เตรียมแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจากมาตรการดังกล่าว โดยเม็ดเงินจากกองทุนที่จะนำมาชดเชยนั้นจะมาจาก การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทางเชื่อมจากชุมชนมายังสถานีรถไฟฟ้า หรือ Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจากนี้จะเห็นความชัดเจน เบื้องต้นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)จะเป็นผู้ทำหน้าที่ Feeder และหากผู้ประกอบการเอกชนรายใดที่มีความพร้อมด้านการให้บริการขนส่ง ก็สามารถเข้าร่วมการจัดเส้นทาง Feeder ได้ ซึ่งแผนระยะสั้นจะผลักดันประมาณ 30 เส้นทาง เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ส่วนระยะถัดไป ประมาณช่วงปี 68-69 จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการตั้งแต่ปี 70 เป็นต้นไป