ผู้ชมทั้งหมด 854
กระทรวงคมนาคมต้องการพัฒนาระบบรางให้มีศักยภาพทั้งในด้านการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการลงทุนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 1 อยู่หลายโครงการ รวมถึงอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ขณะเดียวก็อยู่ระหว่างการรอก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโครงการทั้งหมดหากแล้วเสร็จก็จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการขนส่งได้เป็นอย่างดี ช่วยยกระดับไทยเป็นฮับด้านการขนส่งภูมิอาเซียนและเอเชีย อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามนโยบายให้ประสบความสำเร็จจึงเป็นความท้าทายของผู้ที่จะมารับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทยคนใหม่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ นายวีริศ อัมระปาล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนใหม่ นั้น ในฐานะที่ตนกำกับดูแล รฟท. เตรียมไปมอบนโยบายให้นายวีริศ ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยในเบื้องต้นนโยบายที่ตนจะมอบหมายให้นายวีริศเร่งดำเนินการนั้นมีหลายเรื่องที่สำคัญ เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายขีดความสามารถในการขนส่งทางรางให้ทัดเทียมนานาประเทศ ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคเอเชีย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ
สำหรับโครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการตามแผน และเร่งให้เกิดการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (รถไฟความเร็วสูงไทย – จีน) โดยโครงการระยะที่1 (เฟส1) เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาระยะแรก กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 โดยระยะแรกแบ่งเป็น 14 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2571
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 341,351.42 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธา 235,129.40 ล้านบาท,ค่าลงทุนระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165.61 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยทรัพย์สิน 10,310.10 ล้านบาท,ค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน บริหารโครงการและวิศวกร อิสระ10,060.10 ล้านบาท และงานก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท
โดยในส่วนของโครงการระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ในช่วงไตรมาส 1/2568 พร้อมกับให้ รฟท.ดำเนินงานในรูปแบบ PPP ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเดินรถควบคู่ไปกับการก่อสร้างงานโยธาด้วย และคาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2571
“ในปี 2568 นั้นครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน เพื่อฉลองความสัมพันธ์อันดีรฟท.จะต้องเร่งดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีนให้แล้วเสร็จได้ตามแผนงาน ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อ One Belt One Road ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยยกระดับด้านการขนส่งของไทยได้เป็นอย่างดีสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของเอเชีย”
เร่งรัดก่อสร้างทางคู่เฟสที่ 1 ประมูลเฟสที่ 2
ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จตามแผน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ และเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการต่อประชาชน พร้อมกับเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ทั้ง 7 เส้นทาง ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว 1 เส้นทาง
ส่วนอีก 6 เส้นทางให้เร่งผลักดัน เพื่อนำเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว มูลค่ารวม 297,926 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280 กม. วงเงินลงทุน 81,143 ล้านบาท
3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงินลงทุน 30,422 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงินลงทุน 66,270 ล้านบาท และ6. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงินลงทุน 7,900 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังต้องเร่งดำเนินการลงทุนโครงการรถไฟซานเมืองสายสีแดง อีก 2 ช่วง คือ ช่วงรังสิต – ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,473.98 และช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน- ศาลายา ระยะทาง 20.5 กม. วงเงินลงทุน 15,176.21 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่ปริมณฑล ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม และสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการระบบรางของรฟท.ที่จะเร่งประมูลในปี 2568 ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีแดง 2 เส้นทางนั้นมีวงเงินลงทุนรวม 660,927.6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีจากการลงทุนทั้งหมด
เร่งแก้หนี้สะสม 2.3 แสนล้าน
นายสุริยะ กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญอีกอย่างจะต้องแก้ไขปัญหาหนี้สะสมที่ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.3 แสนล้านบาท และจะต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทั้งจากการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้รฟท. กลับมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้การเพิ่มรายได้จากการให้บริการเดินรถนั้นจะต้องมีการบริการที่มีศักยภาพในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ซึ่งต้องเร่งจัดหาขบวนรถไฟมาเสริมเพิ่มเติม ตามแผนเดิมรฟท.อยู่ระหว่างจัดหาขบวนรถไฟจำนวน 184 คัน เพื่อนำมารองรับการวิ่งให้บริการประชาชนในโครงการรถไฟทางคู่ ทั้ง ระยะ1 และ ระยะ 2 โดยในเรื่องนี้ยังติดอยู่ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งตนก็เตรียมจะหารือกับสภาพัฒน์อยู่
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ รฟท. ยกระดับขบวนรถไฟ โดยการปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 (รถพัดลม) ให้เป็นขบวนรถปรับอากาศ (รถแอร์) เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถทำให้ รฟท. มีรายได้จากการให้บริการขบวนรถไฟพาณิชย์ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า อัตราค่าโดยสารจะไม่กระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน เนื่องจากสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการเดินทางได้