ผู้ชมทั้งหมด 554
“สุริยะ” กดปุ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง กำชับ รฟม. คุมเข้มงานก่อสร้างให้ได้ตามแผน เร่งส่งมอบรถไฟฟ้า พร้อมเปิดบริการปี 71
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้า สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ และ สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า โดยมีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธร รม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) นายเศรณี ชาญวีรกูล ที่ปรึกษาบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ (Cut & Cover) ในพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความสะดวก ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ถือเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ และมอบหมายให้ รฟม. กำกับและควบคุมการดำเนินงานโครงการฯ ให้สำเร็จตามแผน ด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ และด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด เพื่อมอบระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้แก่ประชาชน ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งการเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและก้าวหน้าของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
โดยทางบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีแผนการดูแลความปลอดภัยที่ครบถ้วน และมีวิศวกรควบคุมงานทุกขั้นตอน ประกอบกับ รฟม. ได้มีการกำกับดูแลงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิด จึงสร้างความเชื่อมั่นได้ว่างานก่อสร้างจะเป็นไปด้วยมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เล็งเห็นว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกันมากขึ้น ตลอดจนมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสอันดีในการพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนโดยรอบแนวสายทางโครงการฯ ให้เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการก่อสร้างโครงการฯ ให้สำเร็จตามแผนงานแล้วกระทรวงคมนาคม ยังคงเน้นย้ำให้ รฟม. คุมเข้มการดำเนินงานในทุกขั้นตอนการก่อสร้างของผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้างให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสูงสุด ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเอง คนรอบข้าง และต่อประชาชนที่สัญจรผ่านควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการบรรเทาผลกระทบจากการเบี่ยงจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้มากที่สุด ตลอดจนพิจารณาการคืนผิวจราจรหรือให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด
นายวิทยา กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางของประชาชนจากจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง รวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ซึ่ง รฟม. ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ร้อยละ 30.45 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.06 (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ จะใช้หัวเจาะอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 7 หัว แบ่งเป็นหัวเจาะของงานสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 (ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า) จำนวน 3 หัว หัวเจาะของงานสัญญาที่ 3 (ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ) จำนวน 2 หัว และหัวเจาะของงานสัญญาที่ 4 (ช่วงสะพาน พุทธ – ดาวคะนอง) จำนวน 2 หัว
ส่วนของงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินของโครงการฯ ซึ่งดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ มีความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 40.68 และสัญญาที่ 2 ช่วง หอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า มีความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 37.28 (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567) ปัจจุบันกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล มีความพร้อมในการเดินเครื่องหัวเจาะเพื่อก่อสร้างอุโมงค์คู่แล้ว ในเส้นทางตั้งแต่Cut & Cover ซึ่งเริ่มต้นในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก ลอดผ่านพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ฯ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สิ้นสุดบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในวันนี้ (26 เมษายน 2567) หัวเจาะตัวที่ 1 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายใต้ (Southbound) จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 5.89 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 20 เดือน จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 2 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน และในเดือน ตุลาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 3 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 2.40 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 เดือน
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดินที่มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวและทราย ซึ่งมีแรงดันน้ำใต้ดินในชั้นทรายสูง พร้อมด้วยอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิกส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า – ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ และอุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 1และสัญญาที่ 2 โดยหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 – 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร
นอกจากนี้ รฟม. ยังได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้มีความกลมกลืนกับพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใช้บริการต่อไปสำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.mrta-purplelinesouth.com เฟซบุ๊กแฟนเพจโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ และ Line @mrtpurpleline รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044