ผู้ชมทั้งหมด 16,684
“สุรพงษ์” ลงพื้นที่เคลียร์จราจรระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณสถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ระบุเปิดใช้สัญจร 100% ได้ในเดือนส.ค.67 พร้อมสั่ง รฟม.ทำไทม์ไลน์คืนผิวจราจรงานก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายให้เสร็จในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างความมั่นใจในประชาชนในพื้นที่ คาดเปิดให้บริการได้ปี 71
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณสถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ พร้อมติดตามสภาพการจราจรบนเส้นทางถนนพระปกเกล้า – สะพานพุทธ ที่อยู่ในแนวโครงการ และรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าร่วมด้วย
โดย นายสุรพงษ์ และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างและสภาพปัญหาการจราจรบริเวณสถานีสามยอด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่ในอนาคตจะใช้เป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนัง สถานีใต้ดิน (Guide Wall) จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสภาพการจราจรบนเส้นทางสะพานพระปกเกล้า – สะพานพุทธ ที่มีการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการฯ และพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Diaphragm Wall)
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เกิดจากกรณีที่มี ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามในสภา ผู้แทนราษฎร และในฐานะที่ตนกำกกับดูแลงานระบบราง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่ได้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา จึงลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามการแก้ไขปัญหาหน้างานจริงๆ พบว่า หลังจากที่กำชับให้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปหามาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด พบว่า การแก้ปัญหาบริหารจัดการในระหว่างการก่อสร้างของรฟม.ค่อนข้างน่าพอใจ สามารถนำการดำเนินงานใน 2 จุดนี้เป็นโมเดลในการดำเนินงานในจุดอื่นๆเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีความคืบหน้า 18% หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รฟม. จะสามารถคืนผิวจราจรในบริเวณ 2 พื้นที่ดังกล่าวได้ในเดือนส.ค. 67 และรฟม.จะดำเนินการก่สร้างในส่วนโครงสร้างใต้ดินต่อไป ทั้งนี้ตนได้มีโยบายให้รฟม.ไปพิจารณาช่วงเวลาดำเนินงานเพิ่มเติม เพื่อเร่งงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ช่วงเวลาทำงานก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ 08.00-20.00น. ซึ่งเป็นงานที่มีเสียงดัง จากนั้นช่วงเวลา 20.00 น .เป็นต้นไปจนถึงเวลาประมาณ 22.00น.จะเป็นงานที่มีเสียงเบา เช่น การขนย้ายวัสดุ เป็นต้น แต่หากผู้รับเหมา และ สส .ในพื้นที่สามารถเจราจรกับประชาชนในพื้นที่เพื่อขอเวลาทำงานก่อสร้างที่มีเสียงดังออกไปถึงเวลาประมาณ 21.00 น.ได้ ผู้รับเหมาะก็จะสามารถำงานได้เร็วขึ้น และรฟม.ก็จะคืนผิวจราจรให้ประชาชนในพื้นที่เร็วกว่าที่กำหนดไว้ได้
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ ผู้ว่าการ รฟม.ไปจัดทำไทม์ไลน์กี่ยวกับการคืนผิวจราจรโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ โดยให้ประสานไปยังหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้าและประปา ให้เรียบร้อยว่าจะแต่ละพื้นที่จะสามารถคืนผิวจราจร100%ให้ประชาชนใช้สัญจรได้เมื่อไหร่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ จากนั้นให้ส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า ก่อนจะออกเป็นเอกสารแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนต่อไป ในส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างบริเวณสถานีสามยอด ประมาณ 20 หลังคาเรือน และร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นให้รฟม.ไปพิจารณาให้ถูกต้องตามกฎ กติกา และระเบียบกฎหมายที่มีอยู่
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร(กม.) จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กม. สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กม. สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ MRT สายสีน้ าเงิน ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571
ทั้งนี้เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะเป็นการขยายเส้นทางและพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนในแนวเหนือ – ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ตลอดจนช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงได้