ผู้ชมทั้งหมด 2,709
“สุรพงษ์” สั่งบขส.เพิ่มผู้โดยสารเทียบเท่าก่อนโควิด -19 คาดรายได้ปี 67 พุ่งกว่า 2,500 ล้าน พร้อมให้เอ๊กซเรย์องค์กรปรับตัวเชื่อมระบบราง นำร่อง 3 จุดจอดรถโดยสารรอบกรุง แก้จราจรแออัด-ลดฝุ่น PM2.5 เดินหน้าแผนจัดหารถไฟฟ้า 75 คัน วงเงิน 597 ล้านบาท เปิดประมูล ม.ค.ปีหน้า
เมื่อเวลาวันที่ 3 พ.ย. ที่อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบาย และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. และคณะผู้บริหาร บขส.เข้าร่วมว่า ตนได้มอบนโยบายให้ บขส.ไปเอ็กซเรย์องค์กรและเปลี่ยนแปลงบทบาทในการให้บริการ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยเฉพาะระบบราง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยมีเป้าหมายไม่ให้รถโดยสารขนาดใหญ่ของ บขส. เข้ามาใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อลดปัญหาความแออัดจราจรและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.25 ทั้งนี้ให้บขส. ประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.)ในการหาพื้นที่จุดจอดรถโดยสารรอบนอกเขตกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้โดยสารเชื่อมต่อระบบรางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกแบบไร้รอยต่อ โดยให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม และโครงข่ายในการเชื่อมโยง เบื้องต้นให้นำร่อง พื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีรังสิต สถานีตลิ่งชัน และสถานีคลองบางไผ่ ขณะเดียวกันให้พิจารณาข้อดี ข้อเสียของการเชื่อมต่อ เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนต้องเพิ่มขึ้น โดยให้ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ก่อนดำเนินงานต่อไป
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีที่ บขส. มีหนี้สินต้องจ่ายให้ รฟท. ในการเช่าพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่ง รฟท. ไม่ได้มี บขส. เป็นลูกหนี้เจ้าเดียว ดังนั้นให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปเจรจาหาทางออกร่วมกัน คาดว่าใช้เวลาไม่นานจะได้ข้อสรุป ส่วนการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปที่ใหม่นั้น คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะกว่าระบบรถไฟต่างๆจะเสร็จสมบูรณ์น่าจะใช้เวลาอีก 6 ปี เมื่อถึงเวลานั้น ก็ไม่ควรนำเม็ดเงินไปลงทุนสร้างตึกใหญ่ๆ แต่น่าจะไปลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าการสร้างอาคารสถานที่
สำหรับกรณีปัญหารถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ (จยย.) รับจ้างสาธารณะเถื่อนที่เข้ามาให้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมีนายสุรพงษ์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อประชุมหาแนวทางออกและข้อสรุปที่แท้จริงในเร็วๆ นี้
ด้าน นายสรพงศ์ กล่าวว่า ผลประกอบการจากการดำเนินธุรกิจของ บขส. ในปี 66 มีรายได้รวม 1,900 ล้านบาท แต่ยังประสบปัญหาขาดทุน 219 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 65 ถือว่าขาดทุนน้อยลง เพราะขาดทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนปี 67 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 2,542 ล้านบาท และมีกำไร 57 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาธุรกิจรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ที่ บขส. เปิดให้บริการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์โดยขนส่งไปกับรถโดยสาร (ใต้ท้องรถ) และ รถบรรทุก และมีศูนย์รับส่งพัสดุรวม 11 แห่ง และวางแผนในปี 67 จะจัดหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเปิดศูนย์รับส่งพัสดุเพิ่มอีก 6 แห่ง และ ในปี 69 เดินหน้าจัดหาพันธมิตรต่อเนื่อง เพื่อเปิดศูนย์ฯ ให้ได้อีก 3 แห่ง ซึ่งจะทำให้ บขส. มีศูนย์ฯ รวม 20 แห่ง ส่วนผลดำเนินงานในปี 66 มีรายได้ 111 ล้านบาท และในปี 67 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 148 ล้านบาท
ปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสาร 239 คัน รถร่วมบริการ 3,657 คัน รถโดยสารขนาดเล็ก 3,831 คัน และมีเส้นทางเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งรวมทั้งหมด 284 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางที่ บขส. จัดการเดินรถเอง 23 เส้นทาง เส้นทางที่ บขส. และรถร่วมเอกชนจัดการเดินรถ 62 เส้นทาง และ เส้นทางที่รถร่วมเอกชนจัดการเดินรถเอง 199 เส้นทาง ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในปี 66 อยู่ที่ 2,800,000 คน และในปี 67 คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 2,800,000 คน เท่ากับปี 66 ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ออกเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว บขส. ต้องพยายามดำเนินการให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาใกล้เคียงกับตัวเลขในปี 62 ก่อนช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 5,800,000 คน
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า นยสุระพงษ์ยังมีนโยบายให้ บขส. ดำเนินการจำหน่ายตั๋วโดยสารออนไลน์ให้ได้ 100% จากปัจจุบันมีการจำหน่ายตั๋วออนไลน์แค่ 30% เท่านั้น และให้พิจารณาการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าจากเดิม 90 วัน เป็น 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และง่ายต่อการบริหารจัดการเดินรถสอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น และมีเงินหมุนเวียนจากรายได้การจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าที่สำคัญยังมีนโยบาย บขส. ประเมินผลจากการทำงานและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้โดยสารผ่านการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) เพื่อรับทราบปัญหาผู้โดยสารนำมาสู่การแก้ไขบริการที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ บขส. มีแผนจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) จำนวน 75 คัน วงเงินรวม 597 ล้านบาท รูปแบบการเช่า ระยะสัญญา 5 ปี แบ่งเป็น รถโดยสารขนาดใหญ่ มาตรฐาน 1 (ข) ขนาดไม่ต่ำกว่า 36 ที่นั่ง จำนวน 21 คัน วงเงิน 368.73 ล้านบาท และรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ขนาดเล็ก มาตรฐาน 2 คัน ขนาดไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง (มินิบัส) จำนวน 54 คัน 228.26 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าแล้วเสร็จและเปิดประมูลได้ในเดือน ม.ค.67 และจะได้ตัวผู้ประกอบการช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.67 ก่อนเสนอบอร์ด บขส. พิจารณาและลงนามในสัญญา จากนั้นจะทยอยส่งมอบรถภายใน 3 เดือนหลังจากลงนามสัญญา และส่งมอบให้ครบทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.68
รวมทั้งยังแผนพัฒนาพื้นที่เชิงแผนให้เอกชนร่วมลงทุนการพัฒนาที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บขส. พื้นที่ 4 แห่ง ขนาดรวม 30 ไร่ ประกอบด้วย 1.ที่ดินบริเวณแยกไฟฉาย 2.สถานีเดินรถชลบุรี จ.ชลบุรี 3.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) และ 4.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เพื่อหารายได้เพิ่ม และชดเชยรายได้ค่าโดยสารที่หายไปจากการเดินรถด้วย