“สุรพงษ์” ลั่นเร่งเดินหน้าปลดหนี้รฟท.กว่า 2.3 แสนล้าน เล็งตั้งกองทุนซื้อหนี้รถไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 212 

สุรพงษ์ลั่นเร่งเดินหน้าปลดหนี้รฟท.กว่า 2.3 แสนล้าน เล็งตั้งกองทุนซื้อหนี้รถไฟ ตั้งคณะทำงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดได้ข้อสรุปภายในปี 68 พร้อมเร่งผลักดัน ...กรมการขนส่งทางราง ปลดล็อคให้เอกชนเข้ามาเดินรถขนส่งหนุนรายได้เพิ่มขึ้น

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายเส้นทาง และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นกระดูกสันหลังในการเดินทางของประเทศ โดย รฟท. ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่กลับมีหนี้สินล้นพ้นตัว และจากการดูข้อมูลเชิงลึกก็พบสาเหตุว่ารฟท.ดำเนินงานเดินรถส่วนใหญ่เป็นการให้บริการเชิงสังคม (PSO) และจากการบันทึกข้อมูลทางบัญชีของรฟท.ระบุว่ามีการขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเชิงสังคม (PSO) ปีละประมาณ  5,000-6,000 ล้านบาท แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพียง 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้รฟท.ต้องมีภาระขาดทุนและมีหนี้สะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท และยังมีหนี้เพิ่มขึ้นทุกปีจากการเดินรถเชิงสังคม

“ทุกวันนี้ รฟท.กลายเป็นจำเลยเพราะเป็นหนี้และบริหารไม่ได้ ไม่เป็นมืออาชีพ ทั้งที่เป็นนโยบายให้เดินรถเชิงสังคม ดังนั้นสิ่งที่ผมต้องการทำเร่งด่วนคือเร่งหาทางออกเพื่อปลดหนี้ให้ รฟท. และให้รฟท.มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ แต่ไม่กระทบกับผู้โดยสารที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ”นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า ตนมีแนวคิดที่จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด เพราะคงปล่อยให้ รฟท.อยู่ในสภาพนี้ต่อไปไม่ได้ ซึ่งแนวทางออกของการแก้หนี้ รฟท. มีทั้งการตั้งกองทุนซื้อหนี้รถไฟ หรือการยกเลิกการบันทึกบัญชีหนี้ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในปี 68 ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  พิจารณาต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ และรฟท.สามารถมีระบบบริหารจัดการตารางการใช้เส้นทางรถไฟได้ถึง75-80% รางรถไฟก็จะไม่ว่างและรฟท.ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟเพียง 20% ที่เหลือไม่ได้ใช้งานทำให้มีรายได้น้อย ประกอบกับที่ผ่านมารฟท.ไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าโดยสารมาเป็นเวลา 34 ปีแล้ว จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ ดังนั้นในอนาคตเมื่อร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้ จะช่วยปลดล็อคให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น จาการที่ให้เอกชนสามารถเข้ามาเช่ารางเดินรถขนส่งสินค้าได้

อย่างไรก็ตามเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ได้รับระบุว่าให้บริการผู้โดยสารปีละ 26 ล้านที่นั่ง แต่มีผู้โดยสารมาใช้บริการจึงเพียง 18.7 ล้านที่นั่งต่อปีเท่านั้น จึงสั่งการให้ รฟท.ปรับรูปแบบการให้บริการผู้โดยสารตามความเป็นจริง ส่วนที่นั่งที่เหลือประมาณ 7.3 ล้านที่นั่งต่อปี ให้ปรับไปให้บริการเป็นเชิงพาณิชย์แทน

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางราง พ.ศ. …. อยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม. แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่จึงถูกตีกลับมาที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงจะต้องยืนยันกลับไปใหม่เพื่อรอบรรจุวาระให้ครม.พิจารณาต่อไป