ผู้ชมทั้งหมด 13,513
“สุรพงษ์” ยืนยันกฏหมายกรมรางคลอดไม่เกินสิ้นปี 67 ใช้เป็นอาวุธคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูก พร้อมคุ้มครองความปลอดภัยและเยียวยาผู้โดยสาร ดันสร้างรถไฟไทย-จีน เว้นสถานีอยุธยา เคลียร์ปัญหาจบกลับมาสร้างใหม่แน่นอน
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช. คมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานของ ขร.ว่า ตนได้มาติดตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….เนื่องจากทุกวันนี้ ขร. ยังไม่มีอาวุธ ที่เป็นกฎหมายของตนเอง ต้องไปใช้กฎหมายฉบับอื่นหรือกฎกระทรวงมาอ้างอิงในการปฏิบัติงาน หากพบฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะถือว่ามีอาวุธประจำกายในการควบคุมระบบรางทั่วทั้งประเทศ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ขร. จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมมนาคมเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในสิ้นปีนี้
จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ1 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด จากนั้นจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวาระที่ 2และ 3 ก่อนลงมติ และเข้าสู่การพิจารณาขอสภาสูงตามลำดับ คาดว่าไม่เกินสิ้นปี 67 จะมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในการแก้กฎหมายในรัฐบาลนี้ ต้องให้มีความทันสมัย อย่าคิดแค่ปัจจุบันให้คิดล้ำไปเผื่ออนาคต เช่น การแก้ไขกฎหมายใบขับขี่ต้องคิดเผื่ออนาคตหากมีรถไร้คนขับจะทำอย่างไร เป็นต้น
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ที่เน้นพัฒนาระบบพรางเชื่อมโลก ตนจึงได้ติดตามความคืบหน้าและการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟสายต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ติดค้าง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้คืบหน้า 27% แต่ยังมีปัญหาในส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เบื้องต้นน่าจะมีทางออก 90% แล้ว ยังเหลือข้อตกลงนิดหน่อยน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตามแผน
อีกช่วงคือ ช่วงสถานีอยุธยาที่อยู่ในงานสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ -พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. โดยติดปัญหาจากข้อกังวลของกรมศิลปากรว่าการสร้างสถานีจะบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กรมศิลปากร จึงให้กระทรวงคมนาคมจัดทำรูปแบบสถานีมาพิจารณาก่อนก่อสร้างนั้น ยืนยันก่อสร้างรางรถไฟ โดยเว้นช่วงสถานีอยุธยาไปก่อนจนกว่าคู่ขัดแย้งจะตกลงกันได้ว่าควรสร้างหรือไม่ เพราะหากรอจะทำให้โครงการล่าช้ามาก โดยตนจะไปเจรจา ตกลงรูปแบบที่ชัดเจนโดยชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะอยู่ร่วมกัน ทั้งเมืองเก่าและตัวสถานี ซึ่งอาจจะกลายเป็นสถานีที่สวยที่สุด
ส่วนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รอบรรจุเข้าเป็นวาระพิจารณาของ ครม. ,ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา อยู่ระหว่างการนำเสนอกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ได้นำเสนอสภาพัฒน์เศรษฐกิจแชะสังคมแห่งชาติไปแล้วในช่วงต้นสัปดาห์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ครม. น่าจะสามารถพิจารณาโครงการส่วนต่อขยายสายสีแดงได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายใน ปี 67 ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นไปตามแผนในการเปิดให้บริการภายในปี 70
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนยังได้มอบหมายให้ ขบ.และขร.ไป หาทางร่วมมือจัดการระบบฟีดเดอร์รถโดยสาร ป้อนสู่ระบบรางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและการประกอบการ โดยนำของหนักขึ้นบนรางและของเบาลงบนถนน หากต้นทุนส่วนนี้ลดลงอำนาจการบริหารของประเทศก็จะสูงขึ้น เพราะเมื่อต้นทุนถูกลงการส่งออกก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย
ด้าน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี ขร.กล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.กรมรางฯมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก คือ ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้นในการใช้ขนส่งระบบราง เพราะจะสามารถ ควบคุมพฤติกรรมผู้ขับรถ และตรวจสอบตัวรถก่อนออกให้บริการ เพื่อลดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุขัดข้อง รถล่าช้า ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องมีการเยียวยาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ที่สำคัญยังมีคณะกรรมการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน และการขนส่งสินค้าให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ พร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์ในช่วงเทศกาลสำคัญ รวมถึงกำหนดสิทธิพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและนักเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าที่ซ้ำซ้อนกันในทุกโครงข่ายรถไฟฟ้า โดยเส้นทางใหม่จะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าอย่างแน่นอนส่วนเส้นทางเก่าจะมีวิธีในการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องใช้บัตร EMV ในการชำระค่าโดยสารเท่านั้นจึงจะไม่เสียค่าแรกเข้าเมื่อเดินทางข้ามสาย
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในเรื่องฟีดเดอร์เชื่อมระบบรถกับระบบรางนั้น ในสัปดาห์หน้าขบ.จะเขิญผู้ประกอบการเดินรถมาหารือใน2 ลักษณะ คือ 1. ปรับปรุงเส้นทางเดินรถเดิมให้เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ซึ่งเรื่องนี้น่าจะสามารถทำได้เร็ว โดย ขบ.จะสำรวจและประเมินความต้องการของผู้ประกอบการ และประชาชนในแต่ละเส้นทางก่อน จากนั้นก็ออก ใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ทันที และ 2. กำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ที่เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องอาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควรก่อนจะให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้ในการบรรจุรถเข้าในแต่ละเส้นทางจะเน้นรถโดยสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย