“สุพัฒนพงษ์”แจงตั้งงบปี65สูงกว่าปีก่อน18.5%

ผู้ชมทั้งหมด 1,272 

“สุพัฒนพงษ์” แจงสาเหตุงบปี 65 กระทรวงพลังงานสูงกว่าปีก่อน 18.5% ชี้รวมค่าใช้จ่ายการจ้างที่ปรึกษากฎหมายในการต่อสู้ข้อพิพาทกับคู่สัญญาสัมปทาน และงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยให้กฟผ.ที่ได้อุดหนุนราคาปลาม์น้ำมัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาฯร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2565 วันนี้( 2 มิ.ย. 64) โดยระบุว่า เมื่อช่วงเช้าสมาชิกฯได้แสดงความห่วงใยเรื่องของงบประมาณกระทรวงพลังงานในส่วนที่จะดูแลพลังงานทดแทน หลังจากที่เห็นว่าได้มีการลดลงไป ทางกระทรวงพลังงาน ยืนยันถึงแม้ว่างบในส่วนนี้จะลดลงไปแต่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เอกชน ประชาชนได้ผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะเพิ่มจาก 15.54% เป็น 18.5% ในปี 2565 ซึ่งก็ยังดำรงความเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและใช้พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียนของประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้

อย่างไรก็ตามนายสุพัฒนพงษ์ ยังได้ชี้แจงผ่านเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า ประเด็นเรื่องกระทรวงพลังงานตั้งงบประมาณปี2565 จะเพิ่มจาก 15.54% เป็น 18.5% ในขณะที่งบประมาณของกระทรวงอื่นๆ ลดลงนั้นเนื่องจากมีการเพิ่มงบประมาณเฉพาะเรื่องเพื่อแก้ไขปัญหา 2 เรื่องดังนี้ 

1. งบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการจ้างที่ปรึกษากฎหมายในการต่อสู้ข้อพิพาทกับคู่สัญญาสัมปทาน 2 ราย ซึ่งเป็นสัญญาตั้งแต่ปี 2515 เพื่อขอตีความเรื่องความรับผิดชอบของคู่สัญญาสัมปทานเมื่อหมดอายุสัมปทาน ทั้งนี้ตามสัญญามีการใช้เกณฑ์อนุญาโตตุลาการระบบสากล จึงมีความจำเป็นต้องจ้างทนายหรือนักกฎหมายในระดับสากลมาช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด 

2. งบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้เข้าช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2561 เนื่องจากตอนนั้นเกษตรกรได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลง จึงต้องเข้าไปช่วยพยุงและรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไว้ ประเด็นนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้หากหักลบงบประมาณเฉพาะเรื่อง 2 รายการนี้ออกจากงบประมาณของกระทรวงพลังงานในปี 2565 จะทำงบประมาณของกระทรวงลดลงเหลือ 2,031 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่าปีที่แล้วกว่า 11% ถือว่าลดลงเป็นอันดับต้นๆ ของกระทรวงทั้งหมด อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ในแผนงบประมาณปี 2565 ให้ได้อย่างครบถ้วนต่อไป

ส่วนข้อเสนอแนะการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า(EV) รัฐบาลมีการตั้งเป้าอย่างไร ตรงนี้เองได้เรียนท่านประธานสภาฯผ่านไปยังสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานในเรื่องนี้โดยนำข้อคิดเห็นของคณะกรรมาธิการต่างๆเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 และกำหนดเป้าหมาย นโยบาย 30/30 ซึ่งจะมีการผลิตรถยนต์ในประเทศที่เป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ที่จะไม่ปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ โดยจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุก ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งนี้ก็คือนโยบายในเรื่องของนโยบาย 30/30 โดย 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะเป็น ZEV หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 หรือ ปี(ค.ศ.2030)

นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมาย Ecosystem พอมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Change หรือ ชาร์จเร็ว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้าDelivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง รวมถึงยังดูเรื่องมาตรการฐานความปลอดภัยและระบบไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อให้รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศ รวมถึงความคาดหวังที่จะมีการผลิตแบตเตอรี่ในเมืองไทยที่จะเป็นกิกกะแพลนเพื่อสนองความต้องการหรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น