ส่องผลงานเด่น “กีรติ” ยกระดับสนามบินไทยสู่ระดับโลก ก่อนอำลาตำแหน่งเอ็มดี AOT พรุ่งนี้

ผู้ชมทั้งหมด 11 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ขอแจ้งให้ทราบว่า นานกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยมีผลในวันที่ 24 เมษายน 2568 ด้วยสาเหตุมีความจำเป็นต้องดูแลบิดาและมารดาซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคชรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในช่วงเวลานี้ การก้าวลงจากตำแหน่งของ ดร.กีรติ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตาม AOT จะยังคงต่อยอดนโยบายการยกระดับมาตรฐานการให้บริการสนามบินในฐานะศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ภายใต้การบริหารงานของ นายกีรติ ที่มุ่งมั่นพัฒนายกระดับสนามบินไทยไปสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ในฐานะประตูต้อนรับผู้เดินทางจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เพื่อการเติบโตที่มั่งคงและยั่งยืน โดยในปี 2568 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยได้รับการจัดอันดับจาก Skytrax ให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ในอันดับที่ 39 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 58 โดยขึ้นมา 19 อันดับจากปีก่อน และยังได้รับการจัดอันดับสนามบินที่พัฒนาได้ดีที่สุดของโลก (The World’s most Improved Airport) ในอันดับที่ 3 รวมทั้งยังได้รับรางวัลสนามบินที่สวยที่สุดในโลก (The World Most Beautiful List 2024) สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ UNESCO 

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ติดอันดับ 8 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและมีท่าอากาศยานของไทยติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และยังได้มีการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite1 – SAT1) และทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของ AOT ในการรองรับอนาคตการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก

นอกจากนี้ นายกีรติ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบินเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้โดยสารและแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบิน ก้าวสู่ยุค Digital Transformation อย่างแท้จริง ครอบคลุมท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง เช่น การนำเอาระบบ Biometric มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวก การเช็กอินด้วยความสะดวกผ่านระบบ CUSS / CUBD เป็นต้น โดยตระหนักถึงความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนสนามบินของ AOT สู่การเป็นต้นแบบท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Airport) โดยได้ผลักดันให้ ทสภ.เป็นสนามบินแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 37.81 เมกะวัตต์ รวมถึงการมีนโยบายเปลี่ยนยานพาหนะในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการติดตั้งสถานี EV Charge  สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า อีกด้วย แม้จะยังมีโครงการสำคัญอีกมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและต่อยอดแต่การเปลี่ยนผ่านนี้จะไม่หยุดยั้งการพัฒนา AOT ในการเป็นองค์กรที่นำหน้าในด้านการบินและการบริการสนามบิน โดยจะยังคงเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและเศรษฐกิจในระดับโลกต่อไป