ผู้ชมทั้งหมด 362
ปี พ.ศ. 2567 นับเป็นปีที่ 10 ที่กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้จัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2558 ในพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยโครงการวังจันทร์วัลเลย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ปตท. กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บนพื้นที่ 3,454 ไร่ มุ่งพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เล่าว่า การจัดตั้งสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งนี้ เนื่องจากกลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการชีวโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก รวมถึงต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันวิทยสิริเมธี สามารถผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตคุณภาพสูง จำนวน 169 คน สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ กว่า 1,650 ผลงาน ด้วยการมุ่งเน้นผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง ผ่านโครงการวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชน อีกทั้งงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้สถาบันฯ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาแล้ว 7 รุ่น จำนวน 493 คน ได้ไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ร้อยละ 68 ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพร้อยละ 31 ได้รับทุนศึกษาต่อด้าน STEM ทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยร้อยละ 53 พร้อมกันนี้ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก อีกทั้งมีผลงานจดอนุสิทธิบัตร ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ ได้รับเชิญไปนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติ
นอกจากความสำเร็จด้านวิชาการแล้ว นักเรียนกำเนิดวิทย์ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาและกิจกรรมพัฒนาตนเองด้านอื่น ๆ หลากหลาย นับเป็นความสำเร็จเชิงประจักษ์ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทในการมีส่วนร่วมสร้างอนาคตให้กับประเทศ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 34 ราย พร้อมพระราชทาน “ทุนพระราชทาน ศรีเมธี” แก่นิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 7 ราย และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2566
โดยมีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ศาสตราจารย์พิมพ์ใจ ใจเย็น อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารจากกลุ่ม ปตท. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด อาคารปฏิบัติการต้นแบบ หรือ อาคาร Pilot Plant 3 สถาบันวิทยสิริเมธี สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยีระดับนำร่อง ก่อนเข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยอาคารแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมรองรับการต่อยอดงานวิจัยเชิงลึก สู่การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศ จากนั้นทรงทอดพระเนตรนิทรรศการความก้าวหน้าผลงานด้านวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปี ของสถาบันวิทยสิริเมธี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ทรงเปิดห้องปฏิบัติการทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI and Mechatronics Lab KVIS) ซึ่ง ปตท. ให้การสนับสนุนห้องปฏิบัติการฯดังกล่าว เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้ได้พัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ที่จำเป็นสำหรับอนาคต เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบกลไกในการสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัลต่อไป
จากนั้นทรงทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และการพัฒนาการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ อาทิ การเรียนการสอนด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ การเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามสายวิชาของกลุ่มวิชา Human Sciences การเรียนการสอนธรรมชาติและการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการแผนการสร้างอาคารปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทาง โรงเรียนกำเนิดวิทย์
ทั้งนี้ การก่อตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ของกลุ่ม ปตท. ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงให้กับประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันทั้งสองได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง และสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมนิสิตที่มีความสามารถโดดเด่น พร้อมกันนี้ยังมีการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการและห้องปฏิบัติการใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยเชิงลึก และมุ่งพัฒนาทักษะนักเรียนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรในการสนับสนุนการศึกษาและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต