“สพุัฒนพงษ์”แจงรัฐบาลดูแลผลกระทบ”ค่าไฟ-น้ำมัน”แพง

ผู้ชมทั้งหมด 1,185 

“สุพัฒนพงษ์” แจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปมถกค่าพลังงานแพง ชี้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพุ่ง เหตุสุดวิสัยโควิด-19 ระบาดฉุดการใช้ไฟฟ้าลด ยันหลังปรับแผนพีดีพีใหม่ ลดไฟฟ้าสำรองเหลือ15-20% ภายใน 5-7ปี ขณะที่การซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม-ชุมชน เพิ่มต้นทุนค่าไฟแค่ 1 สตางค์ต่อหน่วย ไม่ใช่ 25 สตางค์ ย้ำซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน ตอบโจทย์พลังงานสะอาด อัตรารับซื้อสูงสุดไม่เกิน 2.90 บาทต่อหน่วย คงที่ 30 ปี พร้อมย้ำค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ มอบนโยบายให้ กกพ.แล้วต้นสะท้อนต้นทุน และดูแลกลุ่มเปราะบาง คาดสิ้นเดือน ก.ค.นี้ สรุปอัตราชัดเจน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องไฟฟ้าและน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้าแพง เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบมีมากกว่า 50% ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาคประชาชนนั้น ในการคำนวณข้อมูลของกระทรวงพลังงาน จะพบว่า ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะเหลืออยู่ที่ 35% เท่านั้น แม้จะเห็นว่ากำลังการผลิตรวมจะมากถึง 50,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตไม่เหมือนกัน บางส่วนสามารถผลิตได้ตลอดทั้งวัน และบางส่วนไม่สามารถผลิตได้ตลอดทั้งวัน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ที่ไม่อาจผลิตกระแสไฟฟ้าเข้ามาได้ตามกำหนดตลอดเวลา หรือแม้แต่เชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะมีเรื่องของฤดูกาลผลิต ซึ่งไม่สามารถนำกำลังการผลิตเหล่านี้เข้ามาคำนวณตรงๆได้ แต่หากคำนวณตามวิชาการที่เป็นการผลิตจริงและเป็นการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 35% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ซึ่งก็ขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

อีกทั้ง การคำนวณอัตราไฟฟ้าสำรองดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ที่ดำเนินมาหลาย 10 ปีแล้ว โดยมีการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจจากหลายหน่วยงาน เช่น สศช. เป็นต้น แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้า มีการลงทุนไปล่วงหน้าแล้ว จึงทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ 35% และ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ก็เผชิญกับสถานการณ์เช่นเดียวกับไทย คือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครคิดว่า วันที่จัดทำการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ ก็ได้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2565 ลงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และอนาคตก็มีพยากรณ์ไว้เผื่อกรณีการใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นตามการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ที่จะเข้ามามากขึ้น ซึ่งเมื่อประเมินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าและการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าว จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะกลับมาอยู่ในระดับ 15-20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ภายใน 5-7 ปีข้างหน้า

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนนั้น ในส่วนของแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 200-300 เมกะวัตต์ เป็นระดับที่ไม่มาก และจะใช้เวลากว่าจะเข้าสู่ระบบ 2-3 ปี แม้ว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น แต่ถือเป็นนโยบายของภาครัฐ และได้ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรฯ ที่ประเมินว่าหากปล่อยไว้ ไม่จัดการกับขยะจะกลายเป็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมที่มีต้นทุนมหาศาลและแพง หากนำมาผลิตไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์และรักษาธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะมีความคุ้มค่ามากกว่า แม้ราคาจะแพงเพราะเทคโนโลยีที่ใช้ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีสารปนเปื่อนออกมา ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อระบบ ประมาณ 1 สตางค์ต่อหน่วย จากขยะอุตฯและขยะชุมชนอย่างละ 1 สตางค์ต่อหน่วย ไม่ใช่ 25 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตัวเลข 25 สตางค์ต่อหน่วยตามที่มีการกล่าวอ้างเป็นเรื่องในอดีตที่ดำเนินการมาก่อน 8 ปี ที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ

รวมถึง เรื่องของการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างระมัดระวัง แม้จะมีคำถามว่าเมื่อก่อนทำไม ราคารับซื้ออยู่ที่บาทกว่า แต่วันนี้กว่า 2 บาท และอาจถึง 2.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า เขื่อนมีลักษณะตอบโจทย์พลังงานสะอาด มีการรับประกันปริมาณขั้นต่ำที่จะต้องจ่าย หรือ ค่าความพร้อมจ่าย โดยการซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังน้ำ จะซื้อตามปริมาณที่ผลิตได้จริงและคนที่รับประกันคือผู้ประกอบการ ซึ่งการรับประกันขั้นต่ำจะช่วงแก้ปัญหาเรื่องค่าความพร้อมจ่าย และค่าความพร้อมจ่ายที่แพงเป็นเรื่องของอดีตเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ อีกทั้งการอนุมัติซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนมีขั้นตอนกระบวนการชัดเจนซึ่งหากอนุมัติวันนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 6-7 ปี ราคาก็ไม่แพงแม้ว่าจะสูงสุดอยู่ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย แต่เทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันก็ยังถูกกว่า และราคานี้จะคงที่ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ส่วนเรื่องข้อกังวลจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์นั้น ก็มีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการพิจารณาความเหมาะสมของเขื่อนทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานเขื่อนที่จะสร้าง เช่น เขื่อนไซยะบุรี ที่ควรไปเยี่ยมชมให้เห็นการดูแลสภาพแวดล้อมได้ดี

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามแผนPDP ที่ปรับปรุงใหม่ จะมีสัดส่วนพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ไทยกลายเป็นต้นแบบผู้สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาค

นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งรายละเอียดต่างๆนั้น จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้พิจารณา และเมื่อ 7-8 ปีก่อน หรือราวปี 2557-2558 ค่าไฟฟ้าฐาน ได้ถูกปรับจาก 2.20 บาทต่อหน่วย และวันส่งมอบให้กับรัฐบาลชุดนี้ ค่าไฟฟ้าฐานที่ปรับใหม่ โดยมีค่าFt ในช่วงเวลานั้นอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วย อาจมีคำถามว่า ทำไมแพงขนาดนั้น ต้องบอกว่าไม่ทราบเป็นเรื่องอดีตที่ต้องไปดูกันและวันนั้นก๊าซธรรมชาติยังมีเพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า แตกต่างจากปัจจุบันที่ก๊าซฯอ่าวไทย ลดลง เพราะใช้งานมากว่า 30 ปี และก็ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับในเรื่องนี้ เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าหลายปี ไม่ใช่เอาเข้ามาได้ง่ายๆ ต้องมีการสร้างคลังรองรับที่ต้องลงทุนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็ได้เตรียมไว้รอ แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาก๊าซLNG จากที่เคยอยู่ระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็ขึ้นไปแตะกว่า 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ในช่วงแรกรัฐบาลไม่อยากผลักภาระไปที่ประชาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) ก็เข้ามาร่วมแบกรับภาระแทนประชาชน และในช่วงนี้ ก็กำลังเป็นช่วงดำเนินการของ กกพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ มีกระบวนการพิจารณา และมีทางเลือกค่าไฟฟ้าหลากหลาย รวมถึงได้หารือสมาคมธุรกิจต่างๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะเลือกแนวทางไหนที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยที่สุด ซึ่งก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปอย่างที่หลายฝ่ายคาดเดาไปก่อน ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงาน ก็ได้มอบนโยบายกับ กกพ.ไปแล้ว โดยจะต้องสะท้อนต้นทุน แต่ก็จะต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบางด้วย คาดว่า สิ้นเดือนก.ค.นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องของอัตราไฟฟ้า

“และวันนี้ ต้องเรียนสมาชิกสภาฯที่เคารพ 20 สตางค์ที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลดูแลกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนกว่า 80% ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าอัตราเดิมเท่ากับเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หากใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลก็ดูแลกลุ่มคนเปราะบางมาโดยตลอด”

นอกจากเรื่องไฟฟ้าแล้ว เรื่องของโครงสร้างราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงาน ก็ทบทวนตลอดพยายามดูแลราคาให้เหมาะสมเพื่อรักษาการแข่งขันของประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันเทียบกับภูมิภาค ไทยอยู่อันดับที่ 7-8 ถือว่าไม่แพง โดย เบนซิน ก็ปรับราคาลดลงรวดเร็ว แม้บางช่วงค่าการกลั่นจะสูงก็เป็นแค่ช่วงสั้น ซึ่งก็ต้องอดทน เพราะราคาสะท้อนต้นทุนที่ผันผวน ส่วนราคาดีเซล ที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ดูแลโดยใช้กองทุนน้ำมันฯเข้าไปประคับประคองไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้ม ของไทย ราคาก็ไม่แพงหากเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งของไทย ราคาอยู่ที่ 378 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 800-900 บาทต่อถัง และปัจจุบัน รัฐบาลก็ยังอุดหนุนอยู่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการประคับประคองไม่ให้เพื่อลดผลกระทบ

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ในช่วงวิกฤตตั้งแต่ปี 2563 ถึง ก.ค.2565 รัฐบาลได้ใช้เงินเข้าไปลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานขาขึ้นแล้วรวมเป็นเงิน อยู่ที่ 237,755 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางเริ่มฟื้นตัว แต่อาจค่อนข้างช้า เพราะไทยยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดูแลต่อไป