ผู้ชมทั้งหมด 699
กฟผ.เผยก.พลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกรอบ MOU ซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวเพิ่มเป็น 10,200 เมกะวัตต์ ด้าน “กัลฟ์” ซุ่มคุยราคากฟผ. หวังขายไฟฟ้า 3 โครงการ Pak Beng, Pak Lay, Sana Kham
นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของสปป.ลาว และกระทรวงพลังงานของไทย อยู่ระหว่างหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า หลังจากทางสปป.ลาว ได้เสนอขอขยายปริมาณขายไฟฟ้าให้กับไทยเพิ่มเป็น 10,200 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้นอีก 1,200 เมกะวัตต์ จากกรอบข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อไฟฟ้าไทยและสปป.ลาวปัจจุบัน กำหนดไว้ที่ปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์
โดยตามข้อตกลง MOU ที่ไทยได้ลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวไว้ 9,000 เมกะวัตต์นั้นในขณะนี้ได้ดำเนินการรับซื้อไปแล้ว 6,000 เมกะวัตต์ ยังคงเหลืออีก 3,000 เมกะวัตต์ที่ต้องดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวเพิ่มตามตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1)
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสปป.ลาวได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับไทย เพิ่มเติมอีกประมาณ 10 โครงการ ซึ่งได้มอบหมายให้ กฟผ.ไปจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ โดยการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มนั้นทางกฟผ.ต้องปรับปรุงประสิทธิสายส่งไฟฟ้าให้พร้อม ซึ่งอาจจะต้องลงทุนขยายสายส่งในบางพื้นที่จาก 115-230 เควี เป็น 500 เควี
สำหรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และจะนำไปสู่การปรับปรุงอีก 5 แผนปฏิบัติการด้วย คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2022) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP ) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan ) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากสปป.ลาวนั้นกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ในเบื้อต้นต้องดำเนินการตามแผน PDP 2018 Revision 1 ก่อน ซึ่งโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ก็เป็นช่วงประมาณปี 2569-2570 แต่การจะซื้อไฟฟ้าแต่ละโครงการนั้น ก็จะมีระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 5-7 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวน 10 โครงการที่ทางสปป.ลาวได้เสนอให้พิจารณานั้นมี 3 โครงการที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ โครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้า 770 เมกะวัตต์ และโครงการ Sana Kham กำลังการผลิตไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์ รวมกำลัง รวมกำลังการผลิต 2,366 เมกะวัตต์
โดยทั้ง 3 โครงการนี้ GULF จะร่วมลงทุนกับบริษัท ต้าถัง และบริษัท เพาเวอร์ ไชน่า จำกัด โดยทั้ง 3 โครงการมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2572-2573 ขณะนี้ทาง GULF อยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้ากับกฟผ. คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้