ผู้ชมทั้งหมด 56
สบพ.จับมือ การบินไทย ลงนาม MOU ด้านการฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินในสถานประกอบการจริง
สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยเรื่อง “การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินในสถานประกอบการจริง” โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และนายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม MOU พร้อมด้วย นางสาววราภรณ์ เต็มแก้ว รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร นายพันศักดิ์ เนินทราย ผู้อำนวยการกองวิชาบริการการจราจรทางอากาศ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ นายภพ บุณยะเวศ หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมบุคลากรช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารจากสองหน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ สบพ. กรุงเทพฯ
ด้าน นางสาวภัคณัฏฐ์ กล่าวว่า การบินไทย เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจการบินของประเทศ และมีความสัมพันธ์ที่ดีในการสนับสนุน และส่งเสริมการผลิตบุคลากรการบิน ของ สบพ.มาอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือกัน ผลิตบุคลากรด้านช่างอากาศยานของไทย ให้มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา สบพ. ได้รับการฝึกอบรมในสถานประกอบการจริง
นอกจากนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ช่างอากาศยาน วิศวกรอากาศยาน บุคลากรของสถานประกอบการ รวมทั้งบุคลากร ครูวิชาภาคพื้น และช่างของ สบพ. ต่อไป ในฐานะที่ สบพ.ได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จาก กพท. ซึ่ง สบพ.ได้รับมอบนโยบายจาก ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในการผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค หรือ Aviation Hub
ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับนี้ สบพ.และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันดำเนินการจัดการฝึกอบรมภาคปฏิบัติในสถานประกอบการจริงของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) รวมทั้ง ร่วมกันพัฒนาการเรียนและการสอน การศึกษาดูงาน การปฏิบัติงานและสหกิจศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการในสายการบิน โดยบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน (Synergy) ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรมด้านการจัดการซ่อมบำรุงอากาศยาน และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของทั้งสองฝ่าย เพื่อยกระดับสมรรถนะบุคลากรด้านการบิน