สนพ.สรุปสถานการณ์พลังงานปี63แนวโน้มปี64

ผู้ชมทั้งหมด 4,214 

สนพ. ชี้แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 64 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2-1.9 น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -1.9 ถึง -2.9 ส่วนการใช้ไฟฟ้าคาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ขณะที่สถานการณ์พลังงานปี 63 ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 5.8 จากการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลิกไนต์ ที่ลดลง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจชะลอตัว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 64 ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานนั้นเติบโตหรือปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าในปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในระดับ 41.0 – 51.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.3 – 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงร้อยละ 4.9

ทั้งนี้ สนพ. ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น โดย สนพ. ได้ประมาณการความต้องการใช้พลังงานในปี 2564 ออกเป็น 2 กรณี คือกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ 1 ครั้ง และกรณีที่เกิดการระบาดมากกว่า 1 ครั้งในรอบปี 2564 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

การใช้พลังงานขั้นต้น ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ถึง 1.9 จากการเพิ่มขึ้นของพลังงานเกือบทุกประเภท ยกเว้นการใช้น้ำมันสำเร็จรูป โดยคาดการณ์ว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ถึง 4.1 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะมีการใช้ค่อนข้างทรงตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.1  ถึง 0.4 ส่วนการใช้พลังงานทดแทน คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ และไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1

ส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2564 คาดว่ามีการใช้ลดลงร้อยละ -1.9 ถึง -2.9 โดยคาดว่าการใช้น้ำมันเครื่องบิน จะลดลงร้อยละ -45.8 ถึง -51.5 ตามการหดตัวของการท่องเที่ยว และ การใช้ LPG ในส่วนที่ไม่รวมการใช้เป็น Feed stocks ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะลดลงร้อยละ -0.7 ถึง -2.7 ส่วนการใช้น้ำมันดีเซล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ถึง 1.3 และการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ถึง 0.8

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ลดลงร้อยละ -1.0 ถึง -5.5 โดยการใช้ในภาคครัวเรือน คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ถึง 2.5 และภาคอุตสาหกรรม คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ถึง 3.6 ในขณะที่การใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลงร้อยละ -12.2 ถึง -15.8 ก๊าซธรรมชาติคาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ถึง 4.1 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามการใช้ในภาคขนส่งคาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้ NGV เปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันยังคงไม่สูงมากนัก ส่วนการใช้ไฟฟ้าในปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 191,029 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกันโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศต่อไป

สรุปสถานการณ์พลังงานปี 63

ส่วนสถานการณ์พลังงานปี 63 ความต้องการใช้พลังงานเกือบทุกชนิดเชื้อเพลิงลดลง โดยการใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 5.8 ในขณะที่พลังงานทดแทนมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เนื่องจากปลายปี 2562 มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศลาวเริ่มจ่ายเข้าระบบจำนวน 3 โรง

การใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 11.5 โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนหนึ่งมาจากการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงต้นปี ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปลายปี รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้รถเพื่อเดินทางลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 1.2 จากมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด

การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 61.8 เนื่องจากมาตรการระงับการบินจากต่างประเทศและลดการบินในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีทำให้การบินในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 26.3 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงร้อยละ 17.7 การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 7.9 และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลงร้อยละ 4.5

การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 8.2 โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 28.5 จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม

ด้านการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.9 โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและไนต์คลับ ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock Down การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศไทย ปี 2563 ลดลงในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยคาดว่าการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานอยู่ที่ระดับ 222.8 ล้านตัน CO2  ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11.1