ผู้ชมทั้งหมด 1,670
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ แผน PDP 2022 ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2037 นั้นมีการดำเนินการจัดทำแผนมากว่า 2 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการปรับแก้กันหลายครั้ง และมีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำร้องคดีกระทรวงพลังงานให้เอกชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าจนทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่าภาครัฐได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว
อย่างไรก็ตาม แผน PDP 2022 จะต้องปรับเป็นแผนฉบับใหม่ (PDP 2023) ซึ่งในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำแผนฉบับใหม่ โดยสนพ.หวังให้เสร็จพร้อมกับได้รัฐบาลชุดใหม่ โดยจะต้องการจัดทำแผน PDP 2023 ต้องสอดคล้องกับเทรนด์การใช้พลังงานในปัจจุบันที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยคาดว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50%
ทั้งนี้ แผน PDP 2023 ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คาดว่าแผน พีดีพี ฉบับใหม่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 26,555 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 1,600 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,207 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน 10,627 เมกะวัตต์
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อำนวยการ สนพ. ระบุว่า สนพ. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำแผนพีดีพี 2023 ซึ่งในขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่คงไม่ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะระฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลชุดนี้ ต้องรอเสนอครม. ในรัฐบาลใหม่ ดังนั้นการจัดทำแผนต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการเลือกตั้ง เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่ สนพ.ก็พร้อมเสนอ ครม. ให้พิจารณาอุมัติแผนทันที โดยการจัดทำแผน พีดีพี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในกลางปี 2566 ทั้งนี้แผน พีดีพี ฉบับใหม่จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งแผน พีดีพี ฉบับใหม่จะล่าช้าอีกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.ในรัฐบาลชุดใหม่
อนึ่งแผน PDP 2023 ฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) เพื่อให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS) รวมถึง Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition
2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และ 3.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) โดย แหล่งข่าว ระบุว่า ได้เสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) ในเขื่อนของกฟผ. รวมกำลังการผลิต 10,416 เมกะวัตต์ให้บรรจุในแผน PDP 2023 ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามศักยภาพหรือไม่อย่างไร เพราะต้องไปศึกษาในด้านเทคนิคเพิ่มเติมว่าการลงทุนในแต่ละเขื่อนจะมีขีดจำกัด หรือมีอุปสรรคในการดำเนินการติดตั้ง หรือจะกระทบต้องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาด้วย