ผู้ชมทั้งหมด 333
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” โชว์กึ๋น! แนะรัฐบาลเร่งแก้วิกฤติราคาพลังงานแพงพลิกเป็นโอกาส ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ ปรับสูตรคิดตามต้นทุนแท้จริง ปรับลดค่าการตลาด แยกการจัดเก็บภาษีคาร์บอนออกจากภาษีสรรพสามิต
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงน และแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานแพงว่า ราคาน้ำมันแพงเป็นวิกฤติไม่สามารถทราบได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคลุมได้ แต่การเกิดวิกฤติก็ต้องทำให้เป็นโอกาส โดยการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาดน้ำมันลงในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน การรื้อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารใหม่ แบ่งเป็นการบริหารราคาพลังงานในยามวิกฤติกับในช่วงปกติ ซึ่งก็ต้องทำงานเชิงรุกในภาวะวิกฤติ เร่งการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น
พร้อมกันนี้การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงในระยะสั้นรัฐบาลควรจะยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ โดยการปรับสูตรการคิดตามต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการคำนวณราคานำเข้าน้ำมันบวกกับภาษีนำเข้าและค่าการกลั่นก็จะได้ราคาต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหากต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ก็ใช้ต้นทุนที่แท้จริงของประเทศไทย เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงได้ ซึ่งแนวทางนี้อาจจะนำมาใช้ในระยะสั้น 3 เดือนก่อน ส่วนในระยะยาวจะต้องศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย แต่หากพบว่าส่งผลดีกว่าการอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ก็อาจจะนำมาปรับใช้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตามในปี 2566 เมื่อโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) แล้วเสร็จก็จะส่งผลให้เป็นโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กำลังการผลิตในระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นโอกาสทางการตลาดผลิตแล้วส่งออก เชื่อว่าเมื่อไทยมีโรงกลั่นขนาดใหญ่จะช่วยให้ต้นทุนราคาน้ำมันถูกลงกว่าสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นศูนย์กลางการส่งออกน้ำมันในอาเซียนได้ต่อไปอีกด้วย
การปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันนั้นเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันตามแนวความคิดของตนนั้นควรจะแยกภาษีคาร์บอนออกจากภาษีสรรพสามิต เช่น ให้ประชาชนจ่ายภาษีน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร และจายภาษีคาร์บอน 1 บาทต่อลิตร และต้องลดภาษีลงให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งด้วย เนื่องจากปัจจุบันโลกกำหนดการเก็บภาษีสินค้าที่ไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาด หากนำเข้าไปในยุโรปจะต้องเสียภาษีเพิ่ม ดังนั้นเพื่อรองรับทิศทางโลกดังกล่าว ควรเก็บภาษีคาร์บอนรถที่ปล่อยมลพิษสูง และนำเงินดังกล่าวไปส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน
นอกจากนี้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลนั้นรัฐบาลต้องกำหนดเลยว่าราคาน้ำมันเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็อาจจะต้องปรับระดับการตรึงราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 บาทต่อลิตร แล้วก็ควรจะอธิบายให้ประชาชน ผู้ประกอบการเอกชนเข้าใจ และต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เขาเตรียมตัว ต้องสื่อสารข้อมูลให้ชัดเจนและยอมรับความเป็นจริง พร้อมกับออกนโยบายที่ช่วยลดภาระประชาชนโดยการใช้เม็ดเงินให้ได้ประโยชน์มากที่สุดในการเข้าไปจัดการ ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลนั้นควรตรึงให้เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันการตรึงราคาน้ำมันดีเซลกลุ่มผู้ใช้รถหรูราคาแพงก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งการพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนั้นก็อาจจะใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานจะปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วยในเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า ไทยต้องลดการเพิ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 60% แล้วไปส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมตอนที่ตนเองดำรงตำแหน่งรมว.พลังงานก็มีนโยบาย ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โครงการโซลาร์ประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากตนยังทำงานอยู่ก็อยากดำเนินการให้สำเร็จ โดยจะผลักดันให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น พร้อมยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานสะอาด
ขณะที่การจัดหา LNG ก็ควรจะต้องมีแนวทางบริหารจัดการที่ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมจากแหล่งอื่น เร่งเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในประเทศไทยเพิ่มเติม เร่งดำเนินการเจรจากับกัมพูชา เพื่อให้สามารถร่วมกันสำรวจก๊าซธรรมชาติในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อรองรับความเสี่ยงจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีกแค่ 10 ปี ส่วนเรื่องการจัดหา LNG ระยะยาวก็เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยรองรับการเกิดวิกฤติพลังงานได้ แต่การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะ Shipper รายใหม่ยังไม่มีการนำเข้า LNG เลย เรื่องนี้ผู้บริการกระทรวงพลังงานก็ต้องมีแนวทางแก้ไข