ผู้ชมทั้งหมด 489
สนข. จ่อชงผลศึกษาพัฒนาโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อให้รัฐบาลใหม่เคาะรูปแบบ หวังเชื่อมโยงการเดินทางเข้าสถานีรถไฟฟ้า-สนามบิน อย่างสะดวก หนุนใช้ขนส่งสาธารณะลดใช้รถส่วนตัว แก้จราจรติดขัดเมืองกรุง
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ณ ห้องพญาไท 4 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 2 การนำเสนอผลการศึกษาและแถลงผลงานโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากการที่ประชาชนยังนิยมใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้น จะต้องทำให้คนหันกลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาระบบสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินสำหรับรองรับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก รวมถึงการจัดเส้นทางระบบขนส่งมวลรอง (Feeder) เพื่อรวบรวมประชาชนที่อยู่ห่างจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามาส่งยังสถานีรถไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นและยังเป็นการรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคตด้วย
นายชาครีย์ กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะสรุปผลการศึกษาโครงการฯ และนำเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน ก.ค. 66 จากนั้นคาดว่าจะสามารถนำเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางยก(คจร.) พิจารณาได้ในช่วงเดือน ส.ค.66 ก่อนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป
นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ผลการศึกษาของโครงการ ประกอบด้วย 1. ร่างแผนพัฒนาการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) สนามบิน และระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน (Intermodal Transfer Facility : ITF) จากแผน M-MAP มีจำนวนเส้นทางรถไฟฟ้ารวม 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร โดยมีจำนวนสถานีรวมทั้งหมด 381 สถานี
ทั้งนี้การศึกษาได้พิจารณาคัดเลือกสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 140 สถานี และสถานีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 72 สถานี มาประเมินและวิเคราะห์ปัญหาความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง รวมเป็นแผนการพัฒนา ITF 212 สถานี ที่กำหนดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น จัดพื้นที่สำหรับ Drop-off / Kiss & Ride จุดจอดรถแท็กซี่ จุดจอดรถจักรยาน ติดตั้งราวจับที่ทางลาด ปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับป้ายรถประจำทาง ติดตั้งป้ายแสดงจุดจอดรถโดยสารและข้อมูลสายรถโดยสาร ติดตั้งหลังคาคลุมทางเดินเชื่อมต่อ (Covered Walkway) ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการ
2. การออกแบบกรอบแบบรายละเอียด (Definitive Design) สถานีต้นแบบ จำนวน 8 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีเตาปูน สถานีบางซื่อ สถานีท่าพระ สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีบางแค สถานีศรีรัช และสถานีชุมทางตลิ่งชัน เพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น แบบการพัฒนาศูนย์การเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี แบบการปรับปรุงพื้นจุดจอดรถโดยสารและที่พักคอยบริเวณสถานีเตาปูน ระบบการจราจรบริเวณสถานีบางซื่อ ทางเท้าและจุดจอดรถโดยสารบริเวณสถานีท่าพระ สถานีศรีรัช และสถานีบางแค ทางเดินเชื่อมต่อป้ายรถโดยสารประจำทางกับสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเพิ่มจุดจอดรถจักยานบริเวณสถานีชุมทางตลิ่งชัน เป็นต้น
3. พัฒนาระบบขนส่งมวลชนมวลชนรอง (Feeder system) เพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 81 เส้นทาง แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบการเดินรถที่มีตารางเดินรถอย่างแน่นอน (Fixed Route) มีจุดจอดรถที่แน่นอน และสามารถเรียกรถได้ตามตำแหน่งที่เหมาะสม มีเส้นทางเดินรถและตารางเวลาที่แน่นอน จำนวน 36 เส้นทาง และรูปแบบการเดินรถที่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน (On Demand) จำนวน 45 เส้นทาง ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) ซึ่งผู้ใช้บริการที่เดินทางในเส้นทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน สามารถโดยสารร่วมทางกันได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งนี้ตั้งเป้าว่า Feeder 60 เส้นทางจะเปิดให้บริการได้ในปี 68 ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดให้บริการตามความพร้อมต่อไป
4. การปรับปรุงการเชื่อมต่อบริเวณสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการเดินทางในฐานะ Gateway ของประเทศ โดยให้มีการปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินและสถานีรถไฟฟ้า ระบบรถโดยสารสาธารณะ และพื้นที่พักคอย ด้วยอารยสถาปัตย์ (Universal Design) พร้อมระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ เพื่อบริหารจัดการเวลาการเดินรถ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะจากสนามบิน เข้า – ออก ตัวเมืองได้อย่างสะดวก
5. การให้บริการแอปพลิเคชัน BKKTransit โดยประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ที่ BKKTransit.net ซึ่งจะมีข้อมูลแนะนำการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนบริเวณโดยรอบสถานี รวมถึงแบบแปลนสถานี ทางเข้า – ออก ไปยังสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ป้ายหยุดรถโดยสาร และท่าเรือสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง