สกนช.เร่งทำแผนอุ้มราคาดีเซล-LPG ปี67 ชงบอร์ด กบน.พิจารณา พ.ย.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 478 

สกนช. ชงบอร์ด กบน. เดือน พ.ย.นี้ พิจารณาแนวทางดูแลราคาดีเซลปี 67 ต่อ หลังนโยบายอุ้มราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้ ขณะที่เงินกู้เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท สิ้นสุด 5 ต.ค.นี้ คาดสิ้นปีนี้ กองทุนฯติดลบ 90,000 -100,000 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.อยู่ระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปี 2567 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 ได้มอบหมายให้ สกนช.ไปจัดทำแผน  scenario หลังจากก่อนหน้านี้ กบน. มีมติให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ขณะที่การกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ตามกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท จะครบกำหนด 1 ปี หรือสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ต.ค.2566 นี้ โดยคาดว่า แผนจะมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อเสนอบอร์ด กบน.พิจารณาต่อไป

พร้อมทั้ง จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณที่เหมาะสมด้วย ซึ่งตามกฎหมายก็มีเครื่องมือที่ สกนช.จะนำมาใช้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ได้ ได้แก่ กลไกการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ, การกู้เงิน ,งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ, เงินบริจาค เช่น ในปี 2565 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยสนับสนุนกองทุนน้ำมันฯ รวมถึง ยังมีกลไกภาษีสรรพสามิต จากกระทรวงการคลัง ที่เดิมเคยลดจัดเก็บภาษีลง 5.99 บาทต่อลิตร ที่ปัจจุบัน ยังลดการจัดเก็บไม่หมดเหลืออยู่ที่ 3.67 บาทต่อลิตร ซึ่งการหารือกับกระทรวงการคลัง ก็จะเป็นอีกแนวทางในการนำมาประกอบการจัดทำ scenario เพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเงินกู้ดังกล่าว สกนช.ได้ดำเนินงานกู้เงินทั้งหมดอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท และยังเหลือเงินประมาณ  50,300 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไปจนถึง 31ธ.ค.นี้ โดยถึงสิ้นปีนี้ คาดว่า สถานะกองทุนน้ำมันฯจะติดลบอยู่ที่ระดับ 90,000-100,000 ล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) จากล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2566 กองทุนฯ มีสถานะ ติดลบอยู่ที่ 65,732 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบ 20,806 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 44,926 ล้านบาท

“ปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก จะอยู่ที่ 115 -130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคายังคงเผชิญความเสี่ยงทั้งจาก การปรับลดอัตราการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัส ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จะยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสมโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน”

นอกจากนี้ สกนช. จะทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ปี (พ.ศ.2568-2572) เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงว่า หลักเกณฑ์ระดับราคาที่เหมาะสมของเชื้อเพลิงควรอยู่ที่เท่าใดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้ขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปครั้งแรก 2 ปีจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 นั้น จะต้องพิจารณาทิศทางของราคาเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้งว่าจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ยังมีระยะเวลาอีกช่วงที่สามารถต่ออายุไปได้อีกครั้งจนถึงปี 2569 ซึ่งเป็นเรื่องที่ สกนช. จะต้องนำเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

นายวิศักดิ์ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบ 1 ปีตามปีงบประมาณ (ต.ค.2565-ก.ย.2566) ว่า กองทุนน้ำมันฯ ได้ดำเนินการตามบทบาทในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในช่วงวิกฤตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-ธ.ค.2565) สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยติดลบสูงสุดถึง 130,000 ล้านบาท ก็ทยอยลดลง รัฐบาลมีมาตรการนำกลไกลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมัน และกองทุนทยอยลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาทต่อลิตรมาเป็น 32 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 โดยเบื้องต้นใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาทต่อลิตร และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาราคาขายปลีก

นอกจากนี้ การออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ได้มีส่วนช่วยทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสถานะการกู้ยืมเงินของ สกนช. ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช. เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 55,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมที่เบิกได้อีก 50,333 ล้านบาท

ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 ได้ปรับขึ้นราคาจาก 408 บาทต่อถัง 15 กก.เป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก.โดยมีผลวันที่ 1 มี.ค.2566 โดยให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคา

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93.39 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 4 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงานจาก 9 หน่วยงาน และคะแนนเฉลี่ยปีนี้จัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของหน่วยงานสังกัดองค์การมหาชนจาก 59 หน่วยงาน โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดี