ผู้ชมทั้งหมด 566
สกนช.เกาะติดสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน ดันราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ห่วงกระทบสถานะกองทุนน้ำมันฯอุ้มดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรอ่วม เตรียมแนวทางรองรับกรณีเลวร้าย หากจัดส่งน้ำมันระหว่างประเทศมีปัญหา เล็งรณรงค์ภาคประชาชนประหยัดการใช้
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังราคาซื้อขายระหว่างวันตลาดเบรนท์ขยับขึ้นไปแตะระกับ 101 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 ปี จากกรณีกองทัพรัสเซียดำเนินการโจมตีทางอากาศกับกองกำลังทหารของยูเครน กลายเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น
ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลราคาดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นทุก 1ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ต้นทุนราคาขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อลิตร โดยราคาดีเซล วันนี้(24 ก.พ.65) อยู่ที่ประมาณ 28.54 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบ ขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ต้นทุนดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรได้
“ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ได้ลดการอุดหนุนดีเซลเหลือ 2.30 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบอยู่ราว90-92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะยังดูแลเสถียรภาพราคาพลังงานได้ถึงพ.ค.นี้ จากเงินกองทุนฯ มีเงินอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลออกจากการดูแลราคาLPG และน้ำมัน ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากราคาทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนฯ หรือ ระยะเวลาดูแลราคาพลังงานได้สั้นลง”
อย่างไรก็ตาม สกนช.จะมอนิเตอร์สถานการณ์ราคาน่ำมันดิบตลาดโลก พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการสภาพคล่องกองทุนฯให้สอดรับกับการดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน พิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจส่งผลยังภาคประชาชนต่อไป
โดยหากเกิดกรณีเลวร้ายสุด คือ เหตุขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รุกลามจนกระทบการจัดส่งน้ำมัน ก็อาจมีมาตรการเรื่องการปันส่วนน้ำมันเข้ามาใช้รับมือสถานการณ์เมื่อที่เคยดำเนินการในอดีต แต่ในระยะสั้น หากราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ทาง สกนช.ก็จะจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนประหยัดการใช้น้ำมัน
ส่วนความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯน้ำมันขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามคำแนะนำด้านบัญชีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คาดว่า เงินกู้จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้ไม่เกินเดือน พ.ค.นี้ และเบื้องต้น มี 3 สถาบันการเงินที่แสดงความสนใจยื่นเสนอแผนจัดสรรเงินกู้ คือ กสิกร ออมสิน และกรุงไทย ซึ่งทาง สกนช.จะต้องรอพิจารณาการเสนออัตราดอกเบี้ยที่เป็นประโยชน์ต่อไป ก่อนตัดสินใจเสนอภาครัฐพิจารณาเลือกกู้เงินกับสถาบันการเงินต่อไป