ผู้ชมทั้งหมด 1,291
ประเทศไทย เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงทั้งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและในยามที่เกิดวิกฤตจนอาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งน้ำมันระหว่างประเทศ หรือ เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันขึ้นได้นั้น
รัฐบาลในอดีตเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการเดินทางและการขนส่ง จากการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน ทั้งปาล์มมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100%(บี 100) เพื่อผสมในน้ำมันดีเซล กลายเป็นไบโอดีเซล รวมถึงนำอ้อยและมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อผสมกับน้ำมันเบนซิล กลายเป็นแก๊สโซฮอล์ ด้วยกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เข้าไปช่วยสนับสนุนต่างราคาเพื่อให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างแพร่หลาย
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤตราคาพลังงาน กองทุนน้ำมันฯและเป็นกลไกสำคัญของรัฐที่จะเข้าไปลดผลกระทบด้านราคาเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของผู้ใช้น้ำมัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากตามกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ต้องวางแผนยกเลิกการอดุหนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปี ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ก.ย.2565 แต่กฏหมายก็มีความยืดหยุ่นให้ขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ตระหนักถึงประโยชน์ของเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืชพลังงาน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่กระจายในหลายภูมิภาค อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจแบบ Bio Economy และช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ก่อนจัดทำแผนฯ เสนอภาครัฐพิจารณาขยายระยะเวลายกเลิกการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ระบุว่า ปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์ม(CPO) ยังมีราคาแพง เมื่อเดือนม.ค.นี้ ราคาขึ้นไปทะลุ 50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แม้เดือนก.พ.จะลดลงบางอยู่ประมาณ 47-48 บาทต่อกก.แต่ก็แพงกว่าราคาในอดีต ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20-25 บาทต่อกก. ดังนั้นทำให้ต้นทุนบี100 ที่นำมาผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลมีราคาแพง หากยกเลิกชดเชยในจังหวะนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน และยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเหตุขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อีกทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น สกนช.จะเตรียมจัดทำแผนขอยืดระยะเวลายกเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เกษตรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้ผลิตไบโอดีเซล และประชาชนผู้ใช้น้ำมัน มีเวลาในการปรับตัว โดยจะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ,คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังพบปัญหาที่เป็นข้อกังวลใจของผู้ประกอบการต่อนโยบายรัฐ ทั้งการปรับคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ยังไม่มีการประกาศกำหนดมาตรฐานสเปคน้ำมัน บี10 ที่จะรองรับยูโร 5 ออกมาอย่างชัดเจน รวมถึงการบูรณาการระหว่าง 3 กระทรวงทั้ง เกษตรฯ พาณิชย์ และพลังงาน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังพบปัญหาเรื่องการปรับส่วนการผสม บี100 ในน้ำมันไบโอดีเซล ที่ปัจจุบันรัฐมีนโยบายลดสัดส่วนการผสม บี100 ในดีเซลเหลือ 5% หรือ บี5 จนถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องการความชัดเจนในการกำหนดสัดส่วนการผสม โดยควรส่งสัญญาณกับผู้ผลิตอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่นในนโยบาย ซึ่ง สกนช.จะรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนเสนอ กบง.ในเร็วๆนี้ พิจารณาปรับสัดส่วน บี100 ใหม่
อย่างไรก็ตาม สกนช. จะนำข้อมูลจากผู้ประกอบการ B100 ในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี ที่ สกนช.ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและความเห็นจากผู้ประกอบการไปนำเสนอต่อ กบง. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการปรับสัดส่วน B100 เบื้องต้นผู้ประกอบการ B100 ได้เสนอให้ภาครัฐกำหนดสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสต๊อก B100 ในประเทศ
ไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด กล่าวว่า การกำหนดราคา บี100 ของผู้ประกอบการแต่ละราย มีความแตกต่างกันตามปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO), ราคาเทียบกับโรงงานข้างๆ,ราคาน้ำมันตลาดโลก และเปอร์เซนต์การสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ซึ่งปีนี้ราคาCPO และบี100 ถือว่าแพงมาก จากราคาตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นไม่ว่ารัฐจะปรับสัดส่วนการผสม บี100 ในไบโอดีเซลเกรดใด ก็ไม่มีผลต่อราคาปาล์ม
ทั้งนี้ การปรับเกรดไบโอดีเซล ต้องคำนึงถึงเรื่องของการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศมากกว่า เพราะปัจจุบันสต็อกอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 1.5-1.7 แสนตัน ดังนั้น รัฐควรจัดสรรให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และส่วนที่เหลือค่อยมาปรับสูตรผสมไบโอดีเซลที่เหมาะสม เช่น ถ้าสต๊อก บี100 มีมากกว่า 3 แสนตัน ก็อาจกำหนดผสมเป็น บี5-บี7 หรือหากสต๊อกต่ำกว่า 3 แสนตัน ก็กำหนดเป็น บี3-บี4 เป็นต้น โดยควรปรับเกรดไบโอดีเซลให้ยืดหยุ่น และส่งสัญญาณให้รวดเร็ว ซึ่งหากดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ ก็เชื่อว่าจะเป็ นส่วนที่ช่วยสร้างสมดุลราคาปาล์มในประเทศได้
ประวิทย์ ทยาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้หยุดขยายโรงงานในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนโยบายรัฐที่ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานยูโร 5 รวมถึงกระแสการส่งเสรายานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งทำให้บริษัทยังรอติดตามความชัดเจนด้านนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่จะผลักดันไปสู่มาตรฐานยูโร5 ว่าจะเป็นสัดส่วนผสมเป็น บี7 หรือ บี10 และจะมีการกำหนดสูตรอย่างไรไม่ให้กระทบกับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะเตรียมตัวและคิดค้นกรรมวิธีผลิต บี7 หรือ บี10 ได้ตรงตามมาตรฐานของภาครัฐในอนาคต เพราะหากรัฐไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดสเปค บี100 ในดีเซล เพื่อรองรับยูโร 5 ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาวิธีดำเนินการที่ถูกต้อง
“ผู้ประกอบการ พร้อมปรับตัวหากนโยบายรัฐส่งเสริมบี100 ไม่ถึงเป้าหมาย 8 ล้านลิตรในปี 2580 แต่ควรส่งสัญญาด้านนโยบายให้ชัดเจน ซึ่งบริษัท ก็มีหาแนวทางศึกษาต่อยอดบี100 ไปสู่เรื่องของผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นห่วงเรื่องคุณภาพน้ำมันปาล์ม ที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำ และปัญหาลักขโมยตัดปาล์มในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆที่แก้ไขไม่หาย”
ส่วนการปรับลดส่วนผสม บี100 สัดส่วน 7% เหลือ 5% จนถึง 31 มี.ค. 2565 มองว่า คงเป็นแค่มาตรการระยะสั้น ที่แก้ไขปัญหาดีเซลแพงและลดผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มีน้อย ขณะที่เดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ จะมีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากหรือเป็นช่วงพีค ก็ต้องดูว่ารัฐจะกำหนดนโยบายอย่างไร หากสต๊อกในประเทศมีปริมาณมาก รัฐก็คงต้องดูว่าราคาตลาดโลกในขณะนี้สามารถส่งออกได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถส่งออกได้รัฐอาจต้องปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มในประเทศ
อาคม สนธิช่วง เกษตรกรปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปีนี้ ผลผลิตปาล์มราคาดี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไปแตะ 11.80 บาทต่อกก.เมื่อช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ไม่ว่ารัฐจะปรับเพิ่ม หรือ ปรับลดส่วนผสมบี 100 ในน้ำมันดีเซล ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มในปีนี้ แต่ในระยะยาวก็กังวลว่า หากราคากลลับไปตกต่ำเหลือ 2-3 บาทต่อกก.เหมือนอดีต จะส่งผลกระทบต่อรายได้ เพราะระดับราคาที่เกษตรอยู่รอดได้ไม่ควรต่ำกว่า 5 บาทต่อกก. ดังนั้นยังอยากให้รัฐคงนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซลไว้เป็นกลไกดูแลราคาปาล์มในระยะยาว
“ตอนนี้ ราคาปาล์มไม่น่าห่วง เพราะแพงตามราคาตลาดโลกและราคาน้ำมันดิบ แต่กังวลเรื่องต้นทุนปุ๋ยแพง และค่าแรงที่อาจจะเพิ่มขึ้น”